วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

สุข ทุกข์ อยู่ที่การบริหาร


สุข ทุกข์ อยู่ที่การบริหาร
ในสังคมที่เราอยู่ด้วยกันย่อมมีอุปนิสัยของผู้คนแตกต่างกันไป อาจจะมาจากการสืบสายเลือด พื้นหลัง การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม การศึกษา บางสิ่งที่เราทำอาจจะไปทำให้คนอื่นรู้สึกขัดหูขัดตาขัดใจ ในขณะที่เราเองก็อาจจะไม่สบอารมณ์กับการกระทำของคนบางคน ในขณะที่เราคิดว่าเราทำดีที่สุดแล้วคนอื่นยังบอกว่าไม่เห็นจะดีเลยก็มี สิ่งเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้คือเราต้องไม่นำการกระทำของคนอื่น มาพูดเพื่อเอาดีใส่ตัวเราเป็นอันขาด หลีกเลี่ยงที่จะไปพูดถึงคนอื่นในทางที่ไม่ดีลับหลัง เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เราไม่มีทางรู้ว่าการกระทำนั้นมาจากเหตุผลอันใด แล้วเราก็ไม่มีสิทธิที่จะไปตัดสินใครคนใดในโลก เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของเบื้องบนมิใช่คนที่เดินชนกันบนพื้นดินแห่งนี้
สิ่งที่เรามักจะนำมาเป็นหัวข้อในการพูดถึงคนนั้นคนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ได้ครอบครองทรัพย์สินไม่เท่าเทียมกัน บางคนมักพูดว่าทำงานแทบตายทำไมได้เงินน้อยกว่าพวกที่นั่งสบายๆในห้องแอร์ คนที่นั่งในห้องแอร์ก็นั่งคุมขมับนับตัวเลขที่มีอยู่ทำอย่างไรจึงจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปได้ คนที่มีเงินเดือนเรือนแสนย่อมมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนที่มีเงินเดือนเป็นหมื่น เราจึงไม่ควรที่จะนำคำนิยมทางตัวเลขไปเปรียบเทียบกับความมีความไม่มี การได้มากได้น้อย และที่สุดของการได้มาในทรัพย์สินของแต่ละคนนั้นย่อมมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน การจะทำให้ชีวิตมีความสุขได้นั้นเราจึงจำเป็นที่จะไม่ไปทุกข์กับเรื่องทรัพย์สมบัติให้มากไปนัก
หลายครั้งหลายคนบ่นว่า การมีชีวิตที่ไม่ได้ใส่ใจกับทรัพย์สินเงินทองนั้นทำได้ยากยิ่งในยุคทุนนิยมครองเมือง ทุกสิ่งดูเหมือนว่าจะต้องใช้เงินทองแลกมาทั้งนั้น และเพื่อให้ได้มาเราก็ต้องหา ต้องเก็บไว้เพื่อซื้อหาสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสุขความสะดวกสบาย แต่พอเก็บไปเก็บมากลายเป็นสะสม แล้วพอมีมากยิ่งอยากมีมากไปอีก ตรงนี้พอเลยจุดพอดี ก็เลยทำให้เกิดความโลภพอกพูน การมีชีวิตอยู่ในยุคทุนนิยมอย่างมีความสุขความสบายใจได้นั้น แต่ละคนต้องรู้จักที่จะบริหารสิ่งที่มีอยู่ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมิใช่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่านั้น เรายังมีคนรอบๆตัวเราที่เราต้องดูแล ห่วงใย ที่เราต้องบริหารสิ่งที่เราได้มาอย่างชาญฉลาด เคยครุ่นคิดเรื่องนี้อยู่นานเหมือนกันว่า เราจะมีวิธีการอย่างไรเพื่อไม่ให้หลุดเลยไปสู่ความโลภในทรัพย์สินที่หามาได้ พอได้อ่านนิทานเรื่องนกแขกเต้ากับชาวนา จึงพอจะเห็นแนวทางในการที่เราจะติดตามพระโดยที่รู้จักบริหารทรัพย์ บริหารชีวิตอย่างไร นิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า..
มีนกแขกเต้าฝูงหนึ่งประมาณ 500 ตัว อาศัยอยู่ในป่างิ้วบนยอดเขาแห่งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาหากิน ฝูงนกแขกเต้าต่างพากันบินไปกินข้าวสาลีในนาของชาวมคธ  เมื่อกินข้าวสาลีอิ่มแล้ว ต่างก็บินกลับรังด้วยปากเปล่าๆ ทั้งนั้น ส่วนพญานกแขกเต้าที่เป็นหัวหน้า เมื่อกินอิ่มแล้ว ยังต้องคาบข้าวสาลีอีก 3 รวงกลับไปด้วย ชาวนาเห็นก็แปลกใจ จึงพยายามดักจับพญานกแขกเต้าให้ได้ ด้วยการสังเกตที่ยืนของพญานกนั้น แล้ววางบ่วงดักไว้ วันหนึ่งพญานกถูกจับได้ ชาวนาจึงถามพญานกว่า "นกเอ๋ย ท้องของท่านคงจะใหญ่กว่าท้องของนกอื่น เพราะเมื่อท่านกินอิ่มแล้ว ยังต้องคาบรวงข้าว กลับไป อีกวันละ 3 รวง เป็นเพราะท่านมียุ้งฉาง หรือเป็นเพราะเรามีเวรต่อกันมาก่อน? "
พญานกตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ได้มียุ้งฉาง และเรา ก็ไม่มีเวรต่อกัน แต่ที่คาบไป 3 รวงนั้น
รวงหนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า รวงหนึ่งเอาไปให้เขา และอีกรวงหนึ่งเอาไปฝังไว้ "
           ชาวนาได้ฟังก็เกิดความสงสัย จึงถามว่า "ท่านเอารวงข้าวไปใช้หนี้ใคร เอาไปให้ใคร ? และเอาไปฝังไว้ที่ไหน?!
         "พญานกแขกเต้าจึงตอบว่า "รวงที่หนึ่งเอาไปใช้หนี้เก่า คือเอาไปเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะท่านแก่แล้ว และเป็นผู้มีพระคุณอย่างมาก ทั้งให้กำเนิดและเลี้ยงดูข้าพเจ้า จนเติบใหญ่ นับว่าข้าพเจ้าเป็นหนี้ท่าน จึงสมควรเอาไปใช้หนี้" "รวงที่สองเอาไปให้เขา คือ เอาไปให้ลูกน้อยทั้งหลายที่ยังเล็กอยู่ ไม่สามารถหากินเองได้ เมื่อข้าพเจ้าเลี้ยงเขาในตอนนี้ ต่อไปยามข้าพเจ้าแก่เฒ่า เขาก็จะเลี้ยงตอบแทน จัดว่าเป็นการให้เขา" "รวงที่สามเอาไปฝังไว้ คือ เอาไปทำบุญด้วยการให้ทานกับนกที่แก่ชรา นกที่พิการหรือเจ็บป่วยไม่สามารถหากินได้เท่ากับเอาไปฝังไว้ เพราะบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า การทำบุญเป็นการฝังขุมทรัพย์ไว้ "
ชาวนาฟังแล้วเกิดความเลื่อมใสว่า นกตัวนี้เป็นนกกตัญญูต่อพ่อแม่ เป็นนกมีความเมตตาต่อลูกน้อย และเป็นนกใจบุญ มีปัญญา รอบคอบ มองการณ์ไกล
พญานกได้อธิบายต่อไปว่า "ข้าวสาลีที่ข้าพเจ้ากินเข้าไปนั้น ก็เปรียบเหมือนเอาทิ้งลงไปในเหว ที่ไม่รู้จักเต็ม เพราะข้าพเจ้าต้องมากินทุกวัน วันนี้กินแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องมากินอีก กินเท่าไหร่ ก็ไม่รู้จักเต็ม จะไม่กินก็ไม่ได้ เพราะถ้าท้องหิวก็เป็นทุกข์"
ชาวนาฟังแล้วจึงกล่าวว่า "พญานกผู้มีปัญญา ทีแรกข้าพเจ้าคิดว่า ท่านเป็นนกที่โลภมาก เพราะนกตัวอื่นเขาหากินเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขาก็ไม่คาบอะไรไป ส่วนท่านบินมาหากินแล้วก็ยังคาบรวงข้าวกลับไปอีก แต่พอฟังท่านแล้ว จึงรู้ว่าท่านไม่ได้คาบไปเพราะความโลภแต่คาบไปเพราะความดี คือเอาไปเลี้ยงพ่อแม่ เอาไปเลี้ยงลูกน้อย และเอาไปทำบุญ ท่านทำดีจริงๆ"
ชาวนามีจิตเลื่อมใสในคุณธรรมของพญานกมาก จึงแก้เครื่องผูกออกจากเท้าพญานก ปล่อยให้เป็นอิสระ แล้วมอบนาข้าวสาลีให้ พญานกรับนาข้าวสาลีไว้เพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งกะคะเนแล้วว่าเพียงพอแก่บริวาร จากนั้นจึงให้โอวาท แก่ชาวนาว่า "ขอให้ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท หมั่นสั่งสมกุศลด้วยการทำทานและเลี้ยงดูพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าด้วยเถิด" ชาวนาได้คติจากข้อปฏิบัติของพญานกจึงตั้งใจทำบุญกุศลตั้งแต่นั้นมาจนตลอดชีวิต นกแขกเต้า ผู้มีปัญญา รู้ว่าควรบริหารจัดการทรัพย์สินอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม นับเป็นการใช้ทรัพย์อย่างชาญฉลาด ที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งมีความสุขความเจริญสุขทั้งกาย สุขทั้งใจ สุขทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ( จาก blogs ของ BboO วรรณนิศา โบว์ ตระกลหิรัญ มหาวิทยาลัยนเรศวร)
หากเรามีทัศนคติต่อทรัพย์สินและรู้จักบริหารทรัพย์อย่างดี ชีวิตเราย่อมมีคุณค่า ย่อมพบพระได้ไม่ยาก ก็บริหารและใช้ทรัพย์สินที่มีเพื่อตัวเองส่วนหนึ่ง และที่เหลือเพื่อผู้คนรอบข้าง นี่ก็ถือว่าเป็นการได้ติดตามพระแล้วในยุคปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องทิ้งทุกอย่าง แต่ใช้เป็นเครื่องมือ เป็นสื่อกลางนำเราไปหาพระเจ้าผู้เป็นแหล่งความสุข ชีวิตเรานั่นเอาเข้าจริงจะสุขจะทุกข์ล้วนอยู่ที่การบริหารชีวิตของแต่ละคน..

ไม่มีความคิดเห็น: