ดราม่า
....แล้วเด็กคนนี้จะเป็นอะไร
สังคมไทยมักเกิดเรื่องราวให้พูดถึง
ให้วิพากษ์วิจารณ์กันได้ทุกวัน จากเรื่องกระแสฟุตบอลยูโร จอดำจอดับ
ยังไม่ทันจะคลี่คลายและสร่างซา ก็มีเรื่องใหม่ๆเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ดูเหมือนเราดูละครหลังข่าวที่แต่ละวันเล่นไม่ซ้ำเรื่องกัน
บางเรื่องราวมีความซับซ้อนเบื้องหน้าเบื้องหลังมากมาย มีการหักมุมหักเหลี่ยม
จึงเกิดวัฒนธรรมข้อมูลข่าวสารแบบ “ดราม่า” คือ ทำให้เรื่องราวมีสีสัน ไม่ซีเรียส
ภาพจากอินเตอร์เน็ต |
คำว่า “ดราม่า” กำลังเป็นที่นิยมพูดกันมากในกลุ่มชนที่อยู่ในโลกไซเบอร์
สังคมเครือข่าย “ดราม่า” เป็นเหมือนการสร้างเรื่อง หรือนำเรื่องที่เกิดขึ้นแต่งเสริมปรุงให้น่าติดตาม
บางเรื่องปรุงแต่งมากไปหน่อยก็กลายเป็นดราม่า(ละคร)น้ำเน่า หาความสมจริงไม่เจอ
บางเรื่องก็พยายามสร้างฉาก เซ็ทเรื่องขึ้นมาโดยใช้การตลาดนำ
ซึ่งมีไม่น้อยที่เป็นเรื่องที่ไร้รสนิยม ไร้จริยธรรมและเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว...
สมัยนี้เราจึงเห็นการทำอะไรก็ได้เพื่อให้เป็นที่พูดถึงของคนกลุ่มใหญ่
โดยไม่สนใจถึงผลกระทบ ก็แปลกดี คนเราวันนี้สามารถทำให้คนหมู่มากเกิดพลังพูดคุยได้ หรือทำให้คนหมู่มากเกิดความสับสนได้เพียงใช้ตัวหนังสือที่พลิ้วไหว
มีคนไม่น้อยที่มุ่งหวังเพียงเพื่อผลประโยชน์แบบฉาบฉวย สร้างเรื่องมาเพื่อให้พูดต่อๆกันไป
ซึ่งไม่เหมือนคนสมัยก่อนที่พยายามสร้างทางปูทางสายคุณธรรม
สร้างหลักศีลธรรมให้คนหมู่มากได้คิด ได้ไตร่ตรอง ได้วิเคราะห์ และก็กลายเป็นหลักอมตะค้ำยันโลกนี้..
ภาพจากอินเตอร์เน็ต |
ดราม่าที่กำลังถกเถียงกันว่า อะไรที่เรียกว่าพรสวรรค์
อะไรที่เรียกว่าความสามารถและอะไรหรือคือศิลปะ ก็เป็นกระแสที่กำลังเป็นที่กล่าวขานถึง
ก็อย่างที่ทราบๆกันอยู่ เราคงไม่นำเรื่องมาเล่าเพื่อต่อเติมประเด็น แต่สิ่งที่เห็น
วันนี้เรามีคนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็บอกว่าแนวคิดแบบนี้ถูก แนวคิดแบบนั้นผิด
อีกกลุ่มก็เห็นตรงข้าม ต่างก็ใช้ความเป็นตัวตน ความเห็นแก่ตัว ยึดในความคิดที่ว่า สิ่งที่ออกมาจากตัวเองเท่านั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง
ค่านิยมนี้กำลังครอบงำสังคม และกลืนกินให้ผู้คนติดกับดัก วนเวียนอยู่เพียงการต่อล้อต่อเถียงกันเพื่อให้เกิดความสะใจ
เพื่อมุ่งให้ชนะในอารมณ์ที่มีเหนือกว่า แต่จะมีสักกี่ครั้งที่เราจะมาร่วมกันกับเพื่อนฝูง
คนคุ้นเคย นั่งคิดนั่งคุย นำเรื่องที่เกิดขึ้นมาพูดคุยวิเคราะห์
มาหาบทเรียนและบทสอนให้กับชีวิต อย่างเก่งก็เห็นจับกลุ่มกันวิพากษ์วิจารณ์ตามอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
แล้วก็จากลากันไปแบบไม่ได้อะไรงอกเงยขึ้นมาในหัวใจ มีแต่สิ่งเดิมๆที่ติดค้างคาอยู่ในหัว
และก็อวดตัวว่าสิ่งนี้แหละคือสิ่งถูกสุดแล้ว
สิ่งหนึ่งที่เราละเลยแล้วมักมองข้ามผ่านไปเสมอๆนั่นคือ
เด็กของเราจะได้อะไรจากการได้ยินได้ฟังในสิ่งที่เราพูดคุยกัน...ทุกครั้งที่เห็นแววตา
รอยยิ้มผ่านช่องเหงือกที่ไร้ฟันซี่ ได้ยินคำพูดแบบซื่อๆ
เห็นการเล่นตามจินตนาการแบบไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ยามเมื่อได้รวมตัวกัน เด็กเหล่านี้จะต้องผ่านดราม่าอีกกี่ร้อยครั้งในชีวิต
ต้องผ่านดราม่าของสังคมอีกกี่มากน้อยแค่ไหน ดวงตาใสๆรอยยิ้มน้อยๆจะเปลี่ยนเป็นอย่างไรในวันข้างหน้า
มันน่าเศร้าที่เราผู้ผ่านวันวานมาก่อน มิได้เป็นผู้เตรียมทางให้พวกเขาเดิน เราต้องเป็นผู้เตรียมทางที่มิใช่ผู้ปูทาง
ที่เฝ้าฝังความทรงจำแห่งยุคสมัยให้พวกเขา วันพรุ่งนี้ของพวกเขาคือวันเวลาแห่งเทคโนโลยีสื่อสารครองเมือง
หากไม่หมั่นอบรมสอนบอกกล่าว เด็กเหล่านี้ย่อมไร้ภูมิ แล้วเด็กคนนี้ที่เราเห็นวันนี้จะเป็นอะไร
อย่างไรเล่าในวันพรุ่งนี้...
เราก็เห็นๆกันอยู่ว่าทุกวันนี้คนไทย ดำเนินชีวิตประจำวันโดยมีเรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่ก่อนเรื่องอื่น
ยุคของการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านหนึ่งทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ใช่หรือไม่ ในความสัมพันธ์รูปแบบการดำเนินชีวิตของครอบครัวในปัจจุบัน
ก็มีความแตกต่างไปจากครอบครัวไทยในอดีต เราห่างเหินกันมากขึ้น เพราะแต่ละคนต่างเป็นอิสระ
มีที่มีทางของตนเอง ทุกคนมักใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่สังคมนอกบ้าน ทำงานหนัก เรียนหนัก
บ้านเป็นเพียงที่พักพิงของแม่บ้าน ของยามและของมดหนูแมลง
วิธีการเลี้ยงดูลูกหลานก็แตกต่างไปจากเดิม
พ่อแม่ทำงานหนักเหนื่อยกลับมาถึงบ้านก็อยากพักผ่อน ความใกล้ชิดสนิทสนมลดลง
หลายครอบครัวเลี้ยงลูกด้วยวิทยาการสมัยใหม่ให้เครื่องยนต์กลไกเป็นผู้ดูแลอบรมสั่งสอนลูกแทนตน
ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตที่ทันสมัย ทำไปทำมาเกิดความวิตกกังวลของพ่อแม่อีก
กลัวว่าลูกหลานของตนจะรู้น้อยกว่าเด็กอื่น ไม่ทัดเทียมลูกบ้านอื่น สมองน้อยๆของพวกเขา
เลยต้องคิด ต้องจดจำ รับรู้ความรู้วิทยาการต่างๆมากขึ้น
แต่ด้านศีลธรรมจรรยาไม่ได้รับการเลี้ยงดู เด็กก็เกิดความรับรู้โดยอัตโนมัติว่า ตนจะต้องทำแบบนั้นเพราะใครๆเขาก็ทำกัน
ถ้าไม่ทำก็สู้คนอื่นไม่ได้ หรือแม้ไม่อยากทำ ก็จะถูกผู้ใหญ่สร้างดราม่าใส่ความคิดให้อยู่ทุกวันว่าต้องทำ
สมองน้อยๆ ความคิด
ความรู้สึกอันบริสุทธิ์ของเขาก็ซึมซับเอาความคิดเหล่านี้ไว้โดยปริยาย เด็กไทยในยุคนี้จึงมีความเป็นตัวของตัวเองสูง
มีความคิดเป็นของตัวเองและมีแนวโน้มจะไม่ยอมรับฟังความคิดของผู้อื่น มีความคิดเห็นมักสวนทางกับความคิดของผู้ใหญ่อยู่เสมอ
ภาพจากอินเตอร์เน็ต |
เราในฐานะผู้เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง
เราก็มักตั้งคำถามว่า “แล้วเด็กคนนี้จะเป็นอะไร” ซึ่งเป็นความห่วงใยที่งดงาม
แต่ระหว่างทางนั้น
เราเป็นคนขีดเขียนบทให้เขาเดินไปหรือเราเป็นเพียงผู้นำทางให้พวกเขาก้าวสู่ลู่ทางของตัวเองอย่างสมบูรณ์บนความเป็นมนุษย์ผู้ศักดิ์สิทธิ์
หากผู้ใหญ่รู้จักปรับวิธีการให้เหมาะสมกับยุคที่เปลี่ยนไป
อย่าเอาดราม่าที่เราชื่นชอบไปใส่ไว้ในตัวเด็กให้มากนัก
สอนให้รู้จักจัดวางตัวตนให้เป็น อย่าไปอวดรู้ทุกเรื่องในทุกที่
เพราะอาจจะมีคนที่สำคัญกว่าเรา รู้มากกว่าเรา ดีมากกว่ายืนอยู่ด้านหลังเราอย่างเงียบๆ
ใช่หรือไม่ เราเกิดมาบนโลกนี้เพื่อเตรียมที่เตรียมทางให้กับคนอื่น
ไม่ได้เกิดมาเพื่อเบียดบังโลกเพียงเพื่อตัวเอง นี่ต่างหากคือเรื่องจริงที่ไม่ใช่ดราม่า...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น