วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ถูกทุกข้อ

ถูกทุกข้อ

การสอบของเด็กๆ คงจะเสร็จสิ้นกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และคงได้มีเวลาปิดภาคเรียนจวบจนถึงต้นๆเดือนพฤศจิกายน เห็นเด็กๆหลายคนเหนื่อยล้าจากการไปโรงเรียน ที่เหนื่อยล้าคงมาจากการที่ต้องตื่นเช้า เดินทางมาโรงเรียน ตอนอยู่โรงเรียนนั้นไม่เท่าไหร่ เด็กบางคนกินนอนและเติบโตในระหว่างทางมาโรงเรียน ก็เป็นปัญหาที่ทั้งผู้ปกครองและเด็กๆต้องปรับตัว เห็นแล้วก็น่าสงสารเสียจริงๆ

พูดถึงการสอบแล้ว ใช่หรือไม่...เราทุกคนล้วนแต่ผ่านการสอบมาด้วยกันทั้งนั้น (ยกเว้นเรื่องสอบสวนอาจจะมีบางคนที่มีประสบการณ์) การทำข้อสอบของเด็กไทย คนไทยเกือบทุกคนมักจะชอบข้อสอบที่ให้มีตัวเลือก เป็นแบบปรนัยที่ต้องกากบาทข้อใดข้อหนึ่ง และข้อไหนที่มีตัวเลือกว่า ถูกทุกข้อ ก็มักจะเป็นที่หมายปอง จ้องจะกากบาททั้งนั้น เพราะในบางเรื่องมันมีเหตุผลและความถูกต้องมากกว่าหนึ่งข้อ นี่เป็นข้อสันนิษฐานประการแรกของผู้ที่ทำข้อสอบ ประการต่อมา เป็นสิ่งที่ไม่ต้องคิดมากยิ่งตอนที่จำไม่ได้และต้องคาดเดา ข้อที่ว่า ถูกทุกข้อ จึงมีความน่าจะเป็นมากที่สุด แต่บ่อยครั้งก็ถูกหลอกให้เลือก เป็นตัวเลือกลวงๆ และด้วยข้อสอบลักษณะนี้เองที่มีหลายฝ่ายออกมาติติงว่าทำให้เด็กไทยวิเคราะห์ไม่เป็น ท่องจำอย่างเดียว เพื่อทำข้อสอบให้ได้คะแนน แต่ก็อีกเหตุผลหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะระบบการศึกษาของเราที่เน้นจำนวนเด็กในแต่ละห้องให้มากๆเข้าไว้ (ชอบเน้นที่จำนวนไม่ได้เน้นคุณภาพ) ใช่หรือไม่ เวลาตรวจข้อสอบคุณครูที่มีเวลาน้อยนิดอยู่แล้ว จะมาเสียเวลานั่งอ่านคำตอบแบบอัตนัยและให้คะแนนทีละคนทีละความคิดเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นแบบกากบาทจึงเหมาะกับบริบทการศึกษาไทยอย่างมาก จากตรงนี้เองได้ส่งผลกระทบต่อๆกันมาเป็นห่วงโซ่แห่งการศึกษาแบบไทยๆ เด็กโตขึ้นก็เลยวิเคราะห์ไม่เป็น แต่เป็นประเภทช่างจดช่างจำ ช่างนินทา และชอบโอ้อวดความจำที่เก่งกาจจนขาดจิตสำนึกในเรื่องของส่วนรวม มีผลทำให้เด็กไทยอ่อนแอลงเรื่อยๆ และไม่สามารถกำหนดเป้าหมายแสวงหาความหมายชีวิตที่แท้จริงได้...

เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง กำลังสิงสถิตอยู่ในเด็กเยาวชนคนไทย ที่ได้ชื่อว่าปัญญาชน แต่จนปัญญา มีโอกาสได้พูดคุยกับพี่ที่เป็นวิทยากรบรรยายตามมหาวิทยาลัยต่างๆในหัวเรื่อง การค้นหาเป้าหมายในชีวิต คุณพี่วิทยากรได้บ่นว่าสมัยนี้เด็กเรียนในมหาวิทยาลัย และเลือกเรียนตามคณะที่ได้สอบเข้ามา แต่พอถามว่าแล้วเป้าหมายที่ได้เลือกเรียนคณะนี้เพราะอะไร นักศึกษาเหล่านั้นกลับไม่มีคำตอบ แถมทำหน้างงๆ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะบรรยายต่อได้ ต้องเริ่มต้นกระบวนการสอนให้วิเคราะห์ถึงสิ่งที่ตัวเอง ชอบ เป็น อยู่ คือ เพื่ออะไร และจะได้รู้ว่าเป้าหมายในชีวิตที่แท้จริงคืออะไร เป็นเรื่องที่หนักและสาหัสเอาการสำหรับอนาคตของชาติเวลานี้ เพราะเมื่อพวกเขาโตไปแล้ว คงไม่มีอะไรที่ง่ายเหมือนกับการเลือกคำตอบว่า ถูกทุกข้อ

ยิ่งเมื่อได้อ่านจากข่าวเล็กๆข่าวหนึ่ง ที่พาดหัวข่าวว่า วิกฤตเด็กไทยจิตสำนึกป่วยหนัก “3 ต.ค. 54 สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง พลังบวกเพื่อเด็ก: จุดเปลี่ยนการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. กล่าวว่า แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส.ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้สำรวจต้นทุนชีวิตของเด็กไทยทั่วประเทศ เมื่อปี 2553 จำนวน 12,200 คน พบปัจจัยที่ทำให้เยาวชนไทยอ่อนแอ 10 ลำดับแรกที่น่าเป็นห่วง คือ 1. รู้เท่าทันสื่อ 53% 2. จิตสำนึกของชุมชนในการอยู่ร่วมกัน 55% 3. จิตอาสา 56 % 4. ความกล้าแสดงออก 58% 5. ใฝ่เรียนรู้ 59% 6. ใฝ่รู้ภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่น 61% 7. ควบคุมอารมณ์ตนเอง 61% 8.หลักธรรมศาสนาสู่วิถีชีวิต 62% 9. รักการอ่านหนังสือ 63% และ 10. โอกาสเข้าร่วมกิจกรรม 65% ซึ่งจากผลสำรวจ พบว่า เด็กภาคอีสานและภาคใต้มีต้นทุนชีวิตอยู่ในระดับสูงกว่าภาคอื่นๆ ในขณะที่ภาคกลางอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ยังถือได้ว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีที่ไร้พรมแดน และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซีย (หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก)

เด็กไทยเราไวต่อเทคโนโลยี เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยการวิเคราะห์เพราะเครื่องมันสังเคราะห์ให้เรียบร้อยแล้ว ชอบอะไรที่ง่ายๆเร็วๆ ชอบอะไรที่เป็นสิ่งสำเร็จรูป สังเกตง่ายๆเวลาขึ้นรถสาธารณะ ขึ้นรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน เด็กๆจะก้มหน้าก้มตากดๆๆๆๆๆ เครื่องโทรศัพท์ที่อยู่ในมือ หูเสียบหูฟัง ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เพราะกำลังแชทกับเพื่อนๆโดยมิสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้วในยุคที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกนานาชนิด เด็กไทยอยู่กับเครื่องมากกว่าอยู่กับคน แม้แต่ในขณะไปเรียน เวลาส่วนใหญ่คืออยู่ระหว่างทาง ก็มีเครื่องเหล่านี้เป็นโลกส่วนตัวให้นั่งกดนั่งเล่น แล้วเราในฐานะผู้ปกครองเราจะปล่อยให้เด็กๆกลายเป็นเด็กสำเร็จรูปหรือเปล่า เราจะปล่อยให้พวกเขาเติบโตแบบไร้จุดหมายหรือเปล่า ให้เวลา พูดคุย ตั้งคำถาม ตอบคำถาม และร่วมเรียนเทคโนโลยีไปพร้อมกับพวกเขาด้วยความใส่ใจ ปิดเทอมนี้เราจะมีเวลาอยู่กับเด็กสักกี่วัน...คนที่เลือกตอบถูกทุกข้อนั้นมีมาก แต่คนที่ตอบถูกและรู้จริงๆนะมีน้อยลงในสังคมไทย...

http://astore.amazon.com/konkhangwat04-20


ไม่มีความคิดเห็น: