วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

ขนาดนั้นเลยเหรอ


ขนาดนั้นเลยเหรอ
การถูกปฏิเสธจากคนใดคนหนึ่งนั้นย่อมนำมาซึ่งความเจ็บปวดเสมอ ย่อมทำลายความฝัน ทำร้ายความหวัง แม้ว่าการปฏิเสธนั้นจะมีเหตุผลมารองรับ มีข้ออ้างเพื่อลดทอนความเจ็บปวดของอีกฝ่ายหนึ่ง นี่ก็เป็นบททดสอบเป็นแบบฝึกหัดให้ชีวิตเติบแกร่ง ไม่เปราะบางและร่วงหล่นไปตามอารมณ์ ยิ่งผู้ที่ฝึกฝนอดทนต่อการถูกปฏิเสธมากเท่าใด ย่อมมีความเข้มแข็งต่อความพ่ายแพ้และน้อมรับความเจ็บปวดอย่างชื่นมื่น
ในการแข่งขันกีฬาทุกประเภทย่อมมีผู้หนึ่งฝ่ายหนึ่งเป็นผู้คว้าชัย อีกฝ่ายต้องเป็นผู้พ่าย ซึ่งเป็นกติกาสากลที่ยอมรับกันได้ แต่การที่ถูกปฏิเสธชัยชนะด้วยกลโกง ด้วยเทคนิค เทคติก ถึงขั้นตุกติกนี่ซิ มันเจ็บปวด ยิ่งถ้าไม่มีใครจับได้ไล่ทัน กรรมการปล่อยเลยตามเลย คนที่ถูกปล้นชัยชนะย่อมมีแต่ความเจ็บปวด และอาจจะสะสมพลังเป็นความเคียดแค้น
สังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันในวันนี้ ไม่นำพาซึ่งกติกา และไร้ความมีน้ำใจ ไม่สนใจใดๆทั้งสิ้น ทำทุกอย่างเพื่อก้าวไปให้ได้ชัย ปฏิเสธความถูกผิด ปฏิเสธความยุติธรรมต่อผู้เข้าร่วมแข่งขัน วันนี้เราอยู่บนลู่ทางเยี่ยงนี้ จนบางครั้งต้องอุทานออกมาว่า ทำกันขนาดนี้เชียวหรือ...
ความคิดที่ถ่ายทอดออกมานี้ได้มาจาก ข่าวกีฬาข่าวหนึ่ง การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลก IAAF World Championships ที่เมืองแทกู เกาหลีใต้ ในการแข่งขันวิ่งข้ามรั้ว 110 เมตร ชิงแชมป์โลก เดย์รอน โรเบิลส์ นักวิ่งชาวคิวบา เจ้าของสถิติโลก ซึ่งวิ่งอยู่ในลู่ที่ 5 ใช้มือไปตบไปเกี่ยวแขน หลิวเสียง ขณะเร่งแซงได้ในระยะ 20 เมตรสุดท้าย  เดย์รอน โรเบิลส์ ออกสตาร์ทนำหน้า หลิวเสียง นักวิ่งจีน ตลอด 7 รั้วแรก แต่ หลิวเสียง เริ่มสปีดความเร็วขึ้นมา จนกระทั่งประกบคู่กันในรั้วที่ 8 และเริ่มแซงนำนักวิ่งคิวบา  เห็นชัดในการกระโดดรั้วที่ 9 เดย์รอน โรเบิลส์ แทบจะคว้ามือซ้ายของ หลิวเสียง ที่กำลังจะเหวี่ยงขึ้นจนทำให้เขาวิ่งแกว่งไป แต่ความเร็วของหลิวเสียงยังไม่ลดลง จนรั้วสุดท้าย โรเบิลส์ก็ยังทำเช่นเดิมโดยกวาดท่อนแขนขวาใส่แขนซ้ายของหลิวเสียงที่กำลังพุ่งความเร็วกระโดดข้ามรั้วสุดท้าย จนหลิวเสียงเสียการทรงตัวในที่สุด หลิวเสียงถึงกับหันไปมองหน้านักวิ่งคิวบา ซึ่งอาศัยจังหวะได้เปรียบแซงเข้าเส้นชัยไปพร้อมกับริชาร์ดสัน นักวิ่งสหรัฐฯ อีกคน ส่วน หลิวเสียง ตกไปอยู่อันดับสามได้เหรียญทองแดง
เมื่อมีการรีเพลย์ภาพซึ่งผู้คนทั้งสนามได้เห็นการกระทำดังกล่าว กรรมการจึงสั่งให้มีการแข่งขันใหม่โดยตัดสิทธิ์นักวิ่งคิวบาผู้นั้น ผู้ถูกปรับแพ้ไม่ให้เข้าร่วมอีก เดย์รอน โรเบิลส์ ให้สัมภาษณ์ว่า ผมไม่พอใจเทคนิคการวิ่งในคราวนี้ ที่มือไปแตะถูก หลิวเสียง ในรั้วสุดท้าย (อ้างเรื่องเทคนิค แหม..กำลังเป็นที่นิยมกับคำว่ามันเป็นเรื่องทางเทคนิค) แต่ข้อแก้ตัวของเขามันฟังไม่ขึ้น เพื่อให้ได้ชัยชนะต้องลงทุนทำขนาดนี้เลยเหรอ..
หลิวเสียง นักวิ่งชาวจีนกล่าวไว้อย่างน่าประทับใจว่า ผมรู้สึกว่า ผมเหวี่ยงแขนซ้ายไม่ขึ้น มันทำให้เสียสมดุลไป แต่ก็พยายามฝืนวิ่ง เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ในการแข่งขัน แต่คราวนี้ มันแปลกๆ แต่...สำหรับผมก็ไม่รู้สึกอะไรมากมายกับเรื่องนี้ โรเบิลส์ ก็เตรียมตัวมาดี ผมเองก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจ เพราะผมไม่สนใจสีของเหรียญรางวัลฯ (ต้องขอใช้คำฮิตทางโลกไซเบอร์หน่อยว่า สวดยอดดดดดดด....)
สำหรับคนบางคนยอมรับความพ่ายแพ้ไม่ได้ ไม่สามารถรับได้กับการไม่ได้ชัยชนะ คนเช่นนี้ย่อมทำทุกวิถีทาง ใช้ทุกวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ แม้จะต้องเหนี่ยวรั้ง ฉุดกระชากให้ผู้อื่นล้มลงหรือหยุดชะงัก เพราะคนเหล่านั้นหาได้คำนึงถึงผู้อื่น ทุกการกระทำนั้นทำเพื่อตัวเอง เป็นความเห็นแก่ตัวขั้นที่รุนแรงอย่างมาก ในกระแสโลก ในสภาพแวดล้อมของสังคมกำลังทำให้ผู้คนเป็นเยี่ยงนี้ กระทำกันจนกลายเป็นความเคยชิน เป็นค่านิยมที่ผิดๆ คนสมัยนี้จึงแยกความดี-เลว ผิด-ถูก ไม่ออก การสอนการปลูกฝังให้ผู้คนแยกแยะมุมมืดกับมุมสว่างก็หาได้น้อยเต็มที....แต่อย่างไรเสีย ความดีมิมีวันสูญสลายไปจากโลกใบนี้ มีให้เห็นเสมอเพียงแต่ใครที่เห็นและได้นำมาเป็นบทเรียน บทสอน ก็นับว่าเป็นการเพิ่มพูนความเข้มแข็งและความอดทนให้กับชีวิต
ในโลกย่อมมีสองด้าน ความดีไม่มีวันตาย มีคนอีกจำนวนไม่น้อยมิได้ใส่ใจต่อชัยชนะและความสำเร็จฝ่ายโลก ขอเพียงมุ่งหวังให้เข้าสู่เส้นชัยตามที่ได้ฝึกฝน ไม่ว่าจะได้ที่เท่าไหร่ไม่สำคัญ รางวัลเป็นเพียงเครื่องส่งเสริมให้มีพลังมุ่งมั่น ไม่ว่าจะได้รับรางวัลแบบไหนมันก็แค่รางวัล.. แล้วเราล่ะเป็นแบบ หลิวเสียง คนบินแห่งเมืองจีนหรือเปล่า ถึงแม้จะพ่ายแพ้ต่อกลโกงและเทคนิคชั่วร้าย แต่ไม่เคยหมดศรัทธาต่อการวิ่งในครั้งต่อไป เราไปใส่ใจต่อคนเหนี่ยวรั้ง ต่อการถูกปฏิเสธจนเกินไปหรือเปล่า..เราเป็นคนคอยเหนี่ยวรั้ง เป็นคนที่ชอบปฏิเสธผู้อื่นด้วยข้ออ้างเหตุผลแห่งตนฝ่ายเดียวหรือเปล่า เราเป็นผู้สร้างบาดแผลความเจ็บปวดไว้ให้กับใครบ้างไหมในระหว่างทางที่ผ่านมา..
แต่หากว่าการเหนี่ยวรั้งผู้อื่นของเราทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพียงเพื่อให้คนอื่นได้หยุดชะลอความเร็วแรงและการเดินให้ถูกที่ถูกทาง ด้วยการกล่าวตักเตือนแบบมิตรสหายโดยไม่มีข้ออ้าง การเหนี่ยวรั้งนั้นย่อมมีคุณค่าและสมควรกระทำยิ่งนัก ฉุดเพื่อหยุดดีกว่ารั้งให้พังกันไปข้าง....

ไม่มีความคิดเห็น: