วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กุมราน จิตวิญญาณผู้คัดลอก

กุมราน จิตวิญญาณผู้คัดลอก

ระหว่างการเดินทางสิ่งต่างๆมากมีที่ผ่านเข้ามา และได้ผ่านพ้นไป หากรู้จักเก็บรู้จักเกี่ยว นำมาเป็นบทเรียน บทสอน ใช้ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินชีวิตในแต่ละวันบ้าง ก็จะสร้างความเข้มแข็งที่แฝงไปด้วยความรอบคอบ นำไปสู่ความอ่อนโยนแห่งชีวิตภายใน เข้าแนบสนิทกับพระเจ้าผู้ทรงสถาปนาสรรพสิ่งได้อย่างดียิ่ง ไม่เที่ยววิ่งวนให้วุ่นวายหาความหมายแห่งชีวิตบนโลกยุคมายา...

10 ชั่วโมงแห่งการรอคอยที่ต้องนอนกลางสนามบิน กินกลางทางในที่ต่างถิ่นแดนไกล ทำให้มีเวลาได้ย้อนคิด รำลึกถึง 5 - 6 วันที่ผ่านมาในดินแดนแห่งพันธสัญญา ในแผ่นดินพื้นน้ำที่ครั้งหนึ่งพระผู้ไถ่ถือกำเนิดมา ดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่ส่งผลต่อมนุษยโลกมาหลายยุคหลายสมัย แดนดินถิ่นนี้เป็นที่มาของจิตวิญญาณมวลชนคนรักสันติ...

และแล้วเมื่อเครื่องถึงเมืองไทยในยามดึก ความมึน ความง่วง ความงง ส่งผลให้นอนหลับยาวไปเกือบหนึ่งวันเต็มๆ ตื่นมาพร้อมรับกับข่าวร้ายรายวัน มีการพบซากศพเด็กทารกสามร้อยกว่าซาก โอ้แม่เจ้า...นี่หรือเมืองไทยที่แสนคิดถึงยามจากจร วันรุ่งขึ้นมีการเปิดที่เก็บศพในวัดแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง พบซากอีกเป็นจำนวนรวมกับของเก่านำเรียงแล้วนับได้ 2002 ซาก โอ้...พระเจ้า...เกิดอะไรขึ้นหรือในสังคมไทย นี่เป็นความฝันกลางสนามบินประเทศอิสราเอลหรือเปล่าเนี้ย...ไม่ใช่ซิอยู่เมืองไทยแล้วนี่หน่า..

จากการติดตามข่าวร้าย อดที่จะคิดถึงสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเปรียบกันมิได้เลย ทั้งๆที่เป็นที่เก็บซากเหมือนกัน แต่คนละฟากฝั่ง คนละขั้วโลก ราวนรกกับสวรรค์ ที่หนึ่งเก็บซากเด็กทารกที่ดูไร้ค่าในสายตาคนหนุ่มสาวใจร้าวรานแห่งยุคสมัย อีกที่หนึ่งเป็นที่เก็บม้วนหนังสือและพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้รอดพ้นจากการเผาทำลาย ซึ่งหนังสือเหล่านั้นเป็นของนักบวชยากจนคณะหนึ่ง ผู้คัดลอกพระคัมภีร์ด้วยหัวใจและความทุ่มเท เพื่อหวังให้โลกทุกยุคทุกสมัยได้พบกับความจริง เพื่อสร้างโลกให้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณความเป็นคน แต่...วันนี้โลกเกิดอะไรขึ้น ลองนึกดู

ย้อนไปใน ค.ศ. 1947 คนเลี้ยงแพะคนหนึ่งได้ออกตามหาแพะที่หายไปทางทิศตะวันตกใกล้กับชายฝั่งทะเลตาย เขาได้ขว้างก้อนหินเข้าไปในรูคล้ายๆปากทางที่นำเข้าไปสู่ถ้ำและได้ยินเสียงของบางสิ่งบางอย่างแตก เมื่อเข้าไปในถ้ำเขาได้พบไหจำนวน 8 ใบ บางใบมีฝาปิดอยู่ เขานำไหนั้นออกมาจากถ้ำและตรวจดู ได้พบม้วนหนังสือ 7 ม้วน ที่มีแต่อักษรซึ่งอ่านไม่ออก เขาจึงนำไปขายให้กับคริสตชนนิกาย

ซีเรียนคนหนึ่ง ที่ชื่อ กันโด กันโดได้นำม้วนหนังสือ 4 ม้วนไปแสดงต่อพระสังฆราชที่อยู่ในเยรูซาเล็ม ท่านรู้ทันทีว่าเป็นม้วนหนังสือที่เก่าแก่โบราณเพราะเขียนด้วยภาษาฮีบรู ท่านจึงรับซื้อเอาไว้ การได้ค้นพบม้วนหนังสือครั้งนั้น เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษ

ต่อมาได้มีการขุดค้นบริเวณแถวนั้น และได้พบสถานที่โบราณหลายๆอย่างไม่ว่าจะเป็นอารามเก่า โรงอาหาร โรงงานทำภาชนะดินเผาและที่โม่แป้ง สถานที่แห่งนี้มีชื่อว่ากุมราน

จากการสืบค้นกุมรานเป็นสถานที่อาศัยของชาวเอสซีน เป็นชุมชนสันโดษในสมัยโบราณ อาศัยบริเวณเชิงหน้าผาสูงทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลตาย ชาวเอสซีนเป็นสมาชิกนักบวชนิกายหนึ่ง ซึ่งหนีจากความเสื่อมของโลกไปอาศัยอยู่ในแถบทะเลทรายที่ร้อนระอุใกล้ชายฝั่งทะเลตาย พวกเขาละทิ้งกรุงเยรูซาเล็มเพื่อไปเจริญชีวิตที่เคร่งครัดแห่งการภาวนา การศึกษา การรำพึง ปฏิบัติความยากจนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกของคณะนี้จะต้องมอบทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นกรรมสิทธิ์ให้แก่คณะ เพราะเขาจะเจริญชีวิตรวมกันอย่างครบครัน และเชื่อกันว่าพวกเอสซีนเป็นผู้คัดลอกหนังสือโบราณ รวมทั้งพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ด้วย

การคัดลอกในสมัยก่อนย่อมลำบากลำบน ต้องคัดลอกด้วยมือทีละตัว และในขณะที่คัดลอกก็ต้องอ่านหนังสือเหล่านั้นไปด้วย ถ้าเป็นนักบวชการคัดลอกพระคัมภีร์ถือว่าเป็นการอ่านพระคัมภีร์อย่างละเอียด อย่างมีสมาธิ มีเวลาไตร่ตรอง ก่อให้เกิดพลัง มีความรอบคอบ พระธรรมคำสอนค่อยๆซึมซับสู่หัวใจ ทุกคนจึงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จนกระทั่งถูกคนรุกราน พวกเขาจึงนำม้วนหนังสือ พระคัมภีร์ที่คัดลอกไปแอบเก็บไว้ในถ้ำตามภูเขาสูง

หันกลับมามองสภาพสังคมเรา ที่ไร้จิตวิญญาณ เข่นฆ่ากันได้แม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตเล็กๆที่เรียกว่า ทารก อย่างมโหฬารขนาดนี้ ใช่หรือไม่ เราอยู่ในสังคมที่ฉาบฉวย หยาบคาย อยู่ในยุคที่คัดลอกงานด้วยความเร็วของคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ใช้สายตาและหัวใจอ่านถ้อยคำ ข้อเขียนที่คัดลอกมา เพราะใช้การคัดลอก (Ctrl+c) และการจัดวาง (Ctrl+v) ในการเรียน ทำการบ้าน ทำรายงาน ทำโครงการ ล้วนแต่ทำด้วยความรวดเร็ว ทำจากปลายนิ้ว หัวใจของคนยุคนี้จึงหดสั้น ไม่ละเอียด มีแต่ความหยาบคาย ไร้สำนึก เมื่อทุกอย่างง่ายดาย ทุกเรื่องจึงง่ายดายไปด้วยในชีวิต

ชีวิตและจิตวิญญาณความเป็นคนที่สมบูรณ์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การฝึกฝนชีวิต การเดินทางของชีวิตภายในย่อมต้องผ่านการขัดเกลาอย่างเข้มข้น อย่างละเอียดลออ นี่จึงเป็นฤทธิ์กุศลที่จะทำให้พระธรรมคำสอนลงลึกสู่จิตใจเรา คนสมัยก่อนฝากฝังความดีงามไว้ให้โลก หรือว่าคนยุคเรามีแต่ฝากฝังความโฉด โหดร้าย ไว้ให้ลูกหลานเยี่ยงนี้นะหรือ....

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความดีย่อมไม่มีแบ่งเขต

ความดีย่อมไม่มีแบ่งเขต

มีโอกาสเดินทางไปแสวงบุญตามรอยพระเยซูคริสตเจ้าในดินแดนบ่อเกิดคำสอนแห่งสันติภาพ แต่กลับเป็นดินแดนที่ไร้ซึ่งความสงบสุขตามข้อมูลข่าวสาร ดินแดนแห่งพันธสัญญาที่หลากหลายไปด้วยเผ่าพันธุ์ นี่คือ ประเทศอิสราเอล

การเดินทางต้องใช้เวลาเกือบๆสิบเอ็ดชั่วโมง เป็นเวลาครึ่งวันที่ชีวิตต้องติดอยู่กับที่นั่ง มีที่อาศัยเพียงแค่ช่วงตัว ได้บิดซ้ายเบี่ยงขวาให้พอได้คลายเมื่อย ตามเส้นทางการบิน ต้องบินข้ามน้ำ ผ่านทะเล เรียบไปตามมหาสมุทร แต่เราก็ไม่สามารถมองเห็นผืนดินแผ่นน้ำได้ เพราะเครื่องบินบินอยู่เหนือเมฆ เรียกว่า มาเหนือเมฆ อีกประการหนึ่งการเดินทางครั้งนี้เราเดินทางในเวลากลางคืน ทุกสรรพสิ่งจึงเต็มไปด้วยความมืด และเพื่อคลายความเบื่อหน่ายภายในเครื่องมีจอเล็กๆหน้าที่นั่งแบบของใครของมัน เพื่อให้เลือกเสพสิ่งที่ชอบตามใจปรารถนา กดไปกดมาเจอช่องหนึ่งเป็นโฆษณาต่างๆของประเทศอิสราเอล หลายโฆษณามีเนื้อหาที่ดีมากๆ ความคิดสร้างสรรยอดเยี่ยม และในหนังโฆษณาชิ้นหนึ่งมีคำที่ยังจดจำได้แม่นยำแต่จำผลิตภัณฑ์ไม่ได้ว่าเป็นโฆษณาอะไร คำๆนั้นก็คือ สิ่งที่ดีมีมากมาย แต่เรามักทำให้มันเป็นสิ่งไม่ดี”...

พระเจ้าได้ตรัสไว้ในขณะเนรมิตสิ่งต่างๆเพราะพระองค์เห็นว่าดี สิ่งนั้นจึงเกิดขึ้น และก็เชื่อเสมอมาว่า สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี พัฒนาการต่างๆนั้น เมื่อมีการค้นพบ มีการพัฒนาต่อยอด ทุกอย่างย่อมเป็นสิ่งที่ดี และเช่นกัน จะสังเกตได้ว่า เมื่อสิ่งนั้นถูกนำมาใช้มากๆเข้า หลายคนเริ่มพลิก เริ่มแพลงแฝงเร้นด้วยผลประโยชน์ ฉกฉวยความรุ่มรวยแห่งความดี เข้ายึดครองเป็นของตัวเอง จนเกิดความละโมบโลภมาก เกิดเป็นความหยิ่งยโส นำมาซึ่งความอวดเก่ง ไม่ยอมเคารพในสิ่งสร้างที่ต้องเป็นอยู่และใช้ร่วมกัน ความไม่ดีไม่งามจึงพัฒนาต่อยอดงอกออกมา ทุกสิ่งดีแต่คนที่นำไปใช้นั่นหละที่ทำให้กลายพันธุ์เป็นสิ่งไม่ดี....

และเมื่อได้พาร่างกาย จิตใจ เข้าสู่พรมแดนแว่นแคว้นที่ครั้งหนึ่งองค์พระอาจารย์พระเยซูทรงดำเนิน เทศนาสั่งสอน รักษาผู้คน หลายที่หลายแห่งพระองค์เสด็จไปประชาชนมากมายติดตามซาบซึ้งในคำสั่งสอนนั้น สันติสุขเกิดขึ้นในจิตใจของหลายคน หลายเมือง หลายฐานะ หลายชนชั้นที่ได้เชื่อและเดินตามพระธรรมคำสอน แต่แล้วพระองค์ก็ต้องสิ้นพระชนม์เพราะพระธรรมคำสอนนั้นไปขวางทางผลประโยชน์ของใครบางคน ที่เกรงกลัวว่าพระองค์จะมาช่วงชิงอำนาจทางการเมือง (ทั้งๆที่พระองค์ได้นำความดีงาม ความงดงามมาสู่จิตใจของผู้คนต่างหาก) จึงต้องหาทางกำจัดพระองค์

ใช่หรือไม่ สิ่งที่พระองค์ทรงสอนล้วนแล้วเป็นสิ่งที่ดีงาม กระทั่งกาลต่อมาผู้คนหลายล้านคนยังเชื่อในพระธรรมคำสอนนั้น และก่อให้เกิดสันติภาพบนโลกนี้มานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็อีกนั่นแหละ มีบางครั้งบางเวลาหลายคนทำให้พระธรรมคำสอนนั้นกลายเป็นยาขม เป็นสิ่งแสลงใจ กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดี นำคำสอนไปตีความเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตน ก่อให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แย่งชิงพระเจ้าไปครอบครองคนเดียว

ในการเดินทางแสวงบุญครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่เคยมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน เห็นผู้คนมากมาย ต่างแดนต่างถิ่นต่างประเทศล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การได้มาตามรอยพระผู้นำสันติ เมื่อมีผู้คนมากการแย่งกันกินแย่งกันอยู่แย่งกันดู แย่งกันสวดภาวนาก็เกิดขึ้นตามมา ต่างฝ่ายต่างต้องการเข้าไปหาพระองค์ อากาศจะหนาวร้อนเช่นไร แม้จะต้องต่อคิวจองคิว รอคอยเป็นเวลานานสองนาน ทุกผู้คนล้วนเต็มใจ เพียงเพื่อเข้าสัมผัสจุดที่รอยพระบาท พระหัตถ์ ที่ที่พระองค์เคยอยู่ ที่พระองค์เคยเสด็จผ่าน เพียงเสี้ยววินาทีก็แสนจะยินดี ปรีดา

ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความเชื่อและความศรัทธาที่ปกคลุมไปทั่วประเทศอิสราเอล ในอีกมุมหนึ่งกลับมีการแบ่งแยก ช่วงชิงพื้นที่ถือครอง กำหนดเขต แบ่งแดน แบ่งโซนแย่งชิงดูแล และที่แสนจะเจ็บปวดสำหรับดินแดนแห่งนี้ เมื่อการปกครองตามสายตาระบบระเบียบของโลก ผู้ที่มีอำนาจด้านการเงิน ด้านอำนาจทหารย่อมเป็นผู้กำหนดชะตากรรของผู้อื่น ดินแดนที่พระเยซูเจ้าเสด็จไปทุกที่ทุกแห่ง หลายเมือง บัดนี้มีการกำหนดเขตแดนกันใหม่ ทั้งๆที่แผ่นดินผืนเดียวกัน บ้านเรือนติดกัน ก็ถูกกีดกัน ขวางกั้นด้วยกำแพงปูนหนาและสูง มีการแบ่งโซน แบ่งเขตศาสนา เชื้อชาติ ภายใต้การปกครองของรัฐบาลชาวอิสราเอล

ใช่หรือไม่ ความรักที่พระเยซูเจ้าสั่งสอนย่อมไม่มีพรมแดน ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง รักผู้อื่นเหมือนรักตัวเอง เป็นเสาเอกแห่งการดำเนินชีวิตคริสตชน การที่พระองค์ทรงเลือกสรรให้เรามาเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ ใย...ไม่นำสิ่งดีงามที่พระองค์ทรงประทานไว้ให้เราไปเพิ่มพูนทวีสันติสุขโดยทั่วถ้วนความดีย่อมคงอยู่ความอวดรู้อวดเก่งย่อมสลายไปตามอายุขัยของคน หากแต่ว่าในช่วงอายุขัยของเรา เรานำความดีงามของโลกที่มีมา นำพระธรรมคำสอนมาเพิ่มพูนในชีวิต ความดีย่อมงอกงามตามไปทุกย่างก้าวที่ก้าวเดิน แล้วที่รอยเท้าบนพื้นแผ่นดินย่อมศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งมากยิ่งขึ้น นี่เป็นพันธกิจหนึ่งของการได้มายืนอยู่บนพื้นพิภพนี้ ความดีไม่มีการแบ่งแยกเรานั่นแหละที่แบ่งแยกความดีจนเกิดความไม่ดี ใช่หรือเปล่า....(เขียนที่สนามบินเบ็นกูเรียน อิสราเอล ขณะรอเครื่องบินช้ากว่าปกติ 10 ชั่วโมง)

วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แบมือออก... ให้หรือขอ

แบมือออก... ให้หรือขอ

ในความยากลำบากของหลายคนหลายที่ ที่ต้องประสบกับภัยธรรมชาติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความช่วยเหลือต่างๆก็หลั่งไหลเข้าไปอย่างไม่ขาดสาย แต่สิ่งหนึ่งซึ่งกลายเป็นประเด็นทางสังคม(โดยเฉพาะในประเทศไทยเรา) เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า บางคนบางที่ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง ไม่ได้รับความช่วยเหลือ จมน้ำจมทุกข์อยู่อย่างโดดเดี่ยว หรือสื่อบางพวกก็นำเรื่องนี้มาขยายความให้เป็นประเด็นก่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือเพื่อให้เกิดสีสันในการนำเสนอข่าว หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการสร้างวัฒนธรรม เสพติดการร้องขอ ของผู้คนจนเคยชิน

แน่ละ ในความทุกข์แสนสาหัสของเพื่อนร่วมโลกคงไม่มีใครจะใจจืดใจดำ นั่งมองชะตากรรมทุกข์ซ้ำซ้อนโดยไม่เหลียวแลแยแส ในสามัญสำนึกของมนุษย์ทุกผู้คนย่อมรู้ว่าทุกสรรพสิ่งในโลกหาใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง พระเจ้าทรงสอนเราว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนมีคุณค่าและทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ถึงช่วงหนึ่งเวลาหนึ่งย่อมที่จะยอมแบมือ คลายมือ นำทรัพยากรที่กอบกำ เก็บงำเอาไว้ แบ่งออกไปเพื่อเยี่ยวยาผู้ทุกข์เข็ญ เพียงแต่ว่าในหลายช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราย่อมมีโลภ ใครโลภมากก็เก็บเกี่ยวไว้มาก ใครโอกาสน้อยก็มีเพียงกินเพียงอยู่ หรือมีบ้างบางคนมีโอกาสที่จะโลภแต่เลือกที่จะอยู่จะใช้อย่างพอเพียง แต่หากมองด้วยใจเป็นธรรม ทุกสิ่งในโลกย่อมพอเพียงสำหรับทุกคน แต่อาจจะไม่พอสำหรับคนโลภเพียงคนเดียว ดังวาจาอมตะของท่านคานธีที่เคยกล่าวไว้..

ลองนึกย้อนกลับไปในกาลก่อน ครั้งที่ผู้คนยังไม่ต้องดิ้นรนค้นหาความสบายฝ่ายตนเพียงข้างเดียว ภัยธรรมชาติก็มีอยู่คู่โลกมาตลอดมิใช่หรือ เพียงแต่บรรพชนคนรุ่นเก่าก่อน เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เมื่อภัยมาก็รู้หลบรู้หลีก เคารพต่อสิ่งสร้าง ไม่สร้างสิ่งใดขัดขวางทางสัญจรของลม ฟ้า น้ำ ฝน ไม่คิดทำลายต้นไม้ป่าเขา แหล่งหนตำบลไหนมีภัยก็ไม่เข้าไปครอบครองคิดเอาชนะ ตระหนักรู้ว่าถึงฤดู ถึงเวลาที่ต้องสูญเสียก็น้อมยอมรับ แล้วเริ่มต้นใหม่ไปกับสิ่งสร้าง ไม่มีการร้องเรียกขอความช่วยเหลือ เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ถึงสัจจะธรรมของโลกใบนี้ ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แปรรูป คนก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้อง สอดรับกับเหตุการณ์แห่งฤดูกาล

ตราบจนเมื่อมนุษย์คิดค้นระบบการอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบ มีผู้ปกครอง มีผู้จัดการ จัดวางนโยบายของสังคม กลไกการจัดการมีสิ่งหนึ่งที่แฝงเร้นไปด้วย คือ อำนาจ ผู้ที่มีอำนาจย่อมต้องการคนห้อมล้อม แล้ววิธีที่ดึงผู้คนไว้ คือ การแจกแหลก การให้แบบทุนนิยม ให้แบบการตลาด ความฉลาดของผู้คนก็เลยหดหาย หลายคนจึงเป็นผู้แบมือรับฝ่ายเดียว ช่วยเหลือตัวเองกันไม่เป็น แก้ปัญหากันไม่ได้ เป็นผู้รออย่างเป็นทางการ เมื่อไม่ได้จากทางการ ไม่เป็นดังใจดังหวังก็ไม่คิดสร้าง ไม่คิดริเริ่ม แต่เลือกที่จะกล่าวโทษไปทั่ว มนุษย์มีน้อยคนนักที่จะโทษตัวเอง มีอะไรก็ต้องหาคนอื่นมาเป็นตัวให้โทษเสมอไป หาเหตุผลร้อยพันแปดประการมารับผิด โทษแม้กระทั่งดินฟ้าอากาศ ไม่ค่อยจะสำรวจตรวจสอบตัวเอง โทษแต่คนอื่นสิ่งอื่น ใช่หรือไม่ บางครั้งบ่อยคราวเราก็เป็นเช่นนี้

ด้วยนัยยะแห่งการอยู่ร่วมกัน เราต้องเอาใจใส่ต่อคนๆนั้น ต่อสิ่งนั้นๆ หาใช่เพียงเพื่อให้คนรอบข้าง สิ่งรอบด้านมารองรับเหตุผลเพียงเพื่อตัวเองได้รอดเท่านั้น คนอยู่กับคนก็ต้องเข้าใจคน อยู่กับธรรมชาติก็ต้องเข้าใจธรรมชาติ แล้วเมื่อเราถอยห่างจากสิ่งเหล่านี้ ชีวิตเราเลยขาดหลัก ขาดจุดมั่นคง สับสนเมื่อมีภัยมา มีแต่แบมือขออยู่ร่ำไป ไม่มีหัวใจของนักสู้ เป็นแต่นักกู่เรียกร้อง

วันนี้มือที่เราแบออกเป็นการแบแบบไหน แบบเพื่อให้ออกไป หรือแบบเพื่อขอรับ สิ่งหนึ่งซึ่งคำนึงถึงเสมอๆ คือ การที่เราจะให้ผู้อื่นมารับผิดชอบในชีวิตเรานั้น เราต้องรู้จักที่จะรับผิดชอบต่อตัวเราเองก่อน เตรียมความพร้อมในชีวิต หัดโทษตัวเองด้วยการสำรวจ ความบกพร่อง ในช่วงวันเวลาที่ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน มีความรับผิดชอบชีวิตตัวเองบ้าง ซึ่งเท่ากับว่า เราจะไม่มัวแต่รอความช่วยเหลือจากคนอื่นอยู่ร่ำไป เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองให้มากๆ แล้วอะไรที่คนอื่นนำมาให้ ที่ได้รับจากคนอื่น นั่นคือน้ำใจ คือ ความเมตตา ความเอื้ออาทร ซึ่งเป็นส่วนเพิ่มเติมเฉพาะหน้า ไม่ใช่สิ่งมาจากความขวนขวายของเรา เพียงช่วยต่อเติมเพิ่มพูนในสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต ชีวิตที่มีค่า และมีเกียรตินั้น มันต้องมาจากสองมือของเราก่อร่างสร้างมันขึ้นมา

นักบุญเปาโลได้สอนเราให้รู้จักทำงาน อย่าเกียจคร้าน ใช้น้ำพักน้ำแรงของตนเอง แม้ว่าท่านจะมีโอกาสที่ไม่ต้องทำอะไรเลยก็สามารถอยู่ได้สบายในฐานะผู้นำ แต่ท่านกลับไม่ยอมเป็นภาระกับใคร ท่านทำงานอย่างหนักทั้งกลางวันกลางคืน ท่านได้กล่าวสอนให้เรารู้จักช่วยเหลือตัวเองก่อนที่จะเรียกร้องให้ผู้อื่นช่วย ถ้าผู้ใดไม่อยากทำงานก็อย่ากิน และเมื่อเราสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ก็ช่วยเหลือกันและกัน สันติสุขก็เกิดขึ้น สังคมที่แบมือขออย่างเดียว เป็นสังคมของคนขี้เกียจและไม่สร้างสรรค์


วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โรคเบื่อง่าย

โรคเบื่อง่าย

น้ำท่วมภาคอีสานและภาคกลางยังไม่ทันจางหายไป พายุ ฝนฟ้าเทกระจายสู่ภาคใต้ของประเทศอย่างถล่มทลายอีกครั้ง จนทำให้หลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ ดูเหมือนว่าปีนี้น้ำท่วมเกือบทั่วทั้งประเทศ ถูกน้ำครองพิภพเสียแล้วประเทศไทย!!! หรือนี่จะเป็นบททดสอบความมีน้ำจิตน้ำใจ ความเอื้ออาทร ที่เคยเหือดแห้งมาอย่างยาวนานของคนไทย กาลนี้จิตเมตตาใจกรุณาคงกลับคืนสู่สังคมไทย กลับสู่รากเหง้าสายสัมพันธ์แห่งความห่วงใย ห่วงหาอาทรซึ่งกันและกัน น้ำที่ไหลหลั่งจากฟากฟ้าล้นธาราสายชล คนจึงถูกชำระความเห็นแก่ตัว หันมาเห็นความทุกข์ยากของเลือดไทยที่เคยแบ่งแยก แข่งขัน มาสู่การแบ่งปัน ช่วยเหลือกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน...

สิ่งหนึ่งที่หวั่นใจว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ผู้คนในสังคมก็คงจะหลงลืมจิตอาสา ใจเมตตากรุณา เนื่องเพราะสังคมไทยก้าวเข้าสู่กระแสแห่งบริโภคนิยมเต็มตัว ในกระแสนี้มีโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้น นั่นคือ โรคเบื่อง่าย โรคที่มักเห็นทุกเรื่องเป็นสิ่งบันเทิงเริงใจ แม้แต่การบริจาคช่วยเหลือก็ยังแอบหวั่นใจว่ามันจะกลายเป็นสิ่งบันเทิงของคนบางคน ทำให้ชีวิตมีความสนุก มีอะไรใหม่ๆเข้ามาชดเชยในชีวิตจำเจแสนเบื่อประจำวัน ได้ออกไปช่วยเหลือคนอื่นก็สนุกดี เมื่อหมดความสนุกก็หันเหไปสร้างเรื่องสนุกใหม่ๆในชีวิต ที่อาจจะมีแต่เรื่องไร้สาระกันต่อไปดังเดิม แต่ธรรมชาติก็สั่งสอนให้สังคมเราอย่าได้เบื่อหน่ายกับความเมตตาอาทร การให้ความช่วยเหลือกัน เป็นสัญญาณแห่งกาลเวลา ให้เราตระหนักว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องส่วนรวม ลด ละ ว่าง เว้น การจมจ่มอยู่กับผลประโยชน์ส่วนตน..

ใช่ว่าแต่สังคมไทยจะเป็นเช่นนี้อยู่ประเทศเดียว ในประเทศที่เรียกตนเองว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาก็ได้ประสบกับโรคร้ายที่เรียกว่า โรคเบื่อง่าย มาแล้วและยังคงเป็นอยู่ อย่างเช่นในบทความของ ไมเคิล คริชตันที่ได้เขียนไว้ว่า ทุกวันนี้ ทุกคนคาดหวังที่จะได้รับความบันเทิงและหวังรับความสนุกอยู่ตลอดเวลา การประชุมทางธุรกิจต้องให้โก้หรู รวดเร็ว มีภาพเคลื่อนไหวประกอบ เพื่อว่าผู้บริหารจะได้ไม่เบื่อ ห้างสรรพสินค้าและร้านค้า ต้องดึงดูดความสนใจของผู้คน จึงต้องมีความสนุกสนานไปพร้อมๆกับการขายสินค้า นักการเมืองต้องบันทึกบุคลิกภาพของตนไว้ในวิดีทัศน์ และบอกพวกเราเฉพาะสิ่งที่เขาอยากให้เราฟัง โรงเรียนก็ต้องระวังไม่ทำให้หัวใจของเด็กน้อยเบื่อ เพราะฉะนั้นจึงต้องอาศัยความรวดเร็วและความซับซ้อนของโทรทัศน์ นักศึกษาจะต้องสนุก

ทุกคนต้องสนุก ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็เปลี่ยนช่อง เปลี่ยนยี่ห้อสินค้า เปลี่ยนพรรคการเมือง เปลี่ยนความจงรักภักดี นี่คือความเป็นจริงทางสติปัญญาของสังคมตะวันตกเมื่อปลายศตวรรษ(ที่ 20) ในศตวรรษก่อนๆมนุษย์อยากจะได้รับการช่วยให้รอด หรืออยากปรับปรุงตัวเอง หรืออยากเป็นอิสระ หรืออยากได้รับการศึกษา แต่ในศตวรรษของเรานี้ พวกเขาอยากได้รับความบันเทิงใจ ที่เขากลัวกันมากไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บหรือความตาย แต่กลัวความเบื่อ สำนึกเรื่องเวลาในมือของเราเวลานี้คือความรู้สึกที่ว่าไม่มีอะไรทำ รู้สึกว่าเราไม่สนุก

หากพิจารณาดูให้ดีๆ ใช่...สังคมเมืองเราก็เป็นเช่นนี้และกำลังเดินไปเหมือนสังคมตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ และในทุกๆเมืองที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม ด้านธุรกิจ ด้านการเงินการลงทุน ด้านเทคโนโลยี ก็มักพบกับสภาพของผู้คนเช่นนี้ เมื่อหลายปีก่อนมีผลสำรวจว่า คนทั่วไปมีสมาธิในการดูการฟังสิ่งต่างๆได้ประมาณ 8 นาที แต่ปัจจุบันนี้มีสมาธิในการดูการฟังเพียงแค่ 2 นาที ไม่ต้องพูดถึงเด็กๆ เพียงแค่เสี้ยวนาทีก็หมดความอดทนแล้ว หากว่าสิ่งที่ดูที่ฟังยิ่งไม่สนุก ไม่ตรึงเอาด้วยความบันเทิง อย่าหวังว่าพวกเขาจะให้ความสนใจ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงมวลสารที่ไร้รูปร่างล่องลอยผ่านไปอย่างไม่รู้สึกรู้สา

เมื่อเรื่องภายนอกเรายังเบื่อง่าย เรื่องภายในยิ่งไม่ต้องพูดถึง คงเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ผู้คนจึงถอยห่าง หนีหายไปจากเรื่องชีวิตภายใน ไร้ความสนใจเรื่องจิตวิญญาณ ไม่เลียวแลผู้คนรอบด้าน ใยมิพักต้องพูดถึงเรื่องศาสนาก็จะกลายเป็นเรื่องแค่จินตนาการ เป็นเรื่องของคนไม่มีอะไรจะทำ หากเราคิดกันเช่นนี้ สิ่งที่ผู้บรรลุธรรม ถึงขั้นได้เป็นนักบุญทั้งหลาย ได้กระทำไว้บนผืนพิภพก็คงจะสูญเปล่า หนทางธรรมที่พวกท่านเหล่านั้นได้ปูไว้ก็เป็นเพียงหนทางที่ถูกปล่อยให้รกร้าง

ความสนุกในหนทางชีวิตแห่งยุคสมัยนำมาซึ่งความเบื่อง่าย และต้องการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอๆได้นำมาซึ่งความสุขแห่งชีวิตเราได้หรือเปล่า แล้วเราจะดำเนินเดินทางต่อไปในชีวิตกันเยี่ยงไร จิตใจเรามั่นคงและศรัทธาในคำสอนที่นำไปสู่ความสุขนิรันดร์มากน้อยแค่ไหน เราคงต้องหันกลับมาสู่ทางธรรมเพื่อนำเราพบความสุขที่ไม่ใช่แค่สนุกเพียงอย่างเดียว เดินตามปฐมโอวาทที่พระเยซูเจ้าให้ไว้ โดยเริ่มต้นจากสถานการณ์ภัยน้ำท่วม ด้วยการปฏิบัติข้อที่ว่า ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตากันก่อน เพื่อเป็นวัคซีนที่ฉีดเข้าไปป้องกันโรคเบื่อง่าย ใครที่กำลังมีอาการลองนำไปปฏิบัติกันดู แล้วความเบื่อหน่ายจะเริ่มหายไปมีแต่ความสุขใจ อย่าเพิ่งเบื่อที่จะอ่านเรื่องแบบนี้นะครับ.....