สุขกายสบายใจได้อย่างไร?
ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาโพลล์ในหลายๆสำนัก ทำการสำรวจว่าคนส่วนใหญ่เขาไปทำอะไรกัน ผลออกมาคือ ไปทำบุญตามวัดต่างๆ รู้สึกว่าดีจังที่ปีนี้ประชาชนคนไทยหันหน้าพึ่งธรรมะ เข้าวัดเข้าวากันมากขึ้น แต่เมื่อลองดูต่อไปว่า ที่ไปทำบุญนั้นเขาไปทำอะไรกัน ส่วนมากก็ไปทำบุญต่อดวงชะตา วอนขอให้ร่ำให้รวย ให้มีโชคมีชัยกันแทบทั้งนั้น ก็อดคิดไม่ได้ว่า วัตถุนิยม บริโภคนิยมมันเข้าครอบงำจิตใจคนเสียจนโงหัวไม่ขึ้น ทำบุญทำกุศลยังมีแต่เรื่องเงินๆทองๆ แน่ละ เราต้องยอมรับว่าเงินทองคือปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ลองคิดสักนิดดีไหมว่า เงินทองทำให้เราแค่สบายกาย ความสุขที่แท้จริงย่อมอยู่ที่ใจ ใจสุขกายก็ผ่องใส กายเคร่งเครียดก็มาจากใจที่ฟุ้งซ่าน
สังคมที่ก้าวไปกับกระแสบริโภคและทุนนิยมจนสุดโต่ง ก็ทำให้โครงสร้างทางคุณธรรม ทางจริยธรรมสั่นคลอน เรามักเก็บ กอบ โกย เพื่อตัวเราเอง หาได้เพื่อผ่องถ่ายให้ผู้อื่นได้กินได้ใช้บ้าง วัฒนธรรมนี้ส่งทอดมายังเด็กรุ่นหลังๆ วันนี้เราจึงมีแต่คนเห็นแก่ได้ เห็นแก่กิน เห็นแก่ตัวกันมาก แม้กระทั่งการเรียกร้องว่าให้ทุกคนลดความเห็นแก่ตัว โดยที่ไม่ได้เริ่มจากตัวตนของเราก่อน ก็เป็นการเห็นแก่ตัวในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำอย่างไรหล่ะ เราจึงจะสร้างและยึดโครงสร้างสังคมให้ร่มเย็นและสงบสุขได้ การแบ่งปันกันและกัน การช่วยเหลือกัน เห็นอกเห็นใจกัน คงเป็นแบบฝึกหัดขั้นสามัญที่เราต้องยึดถือปฎิบัติกันต่อไป ลดการแข่งขันเอาเป็นเอาตายในการตะเกียกตะกายแสวงหาลงบ้าง มีเวลาจัดระบบจัดระเบียบวินัยภายในใจ เหลียวแลกันและกันบ้าง หยิบยื่นเพื่อฟื้นสังคมที่ดีงามให้คงอยู่อย่างสันติตลอดไป
มีเจ้าเมืองๆหนึ่งมีบุตรชายโทนอยู่เพียงคนเดียว และเป็นผู้ที่มีความประพฤติและอัธยาศัยดีไม่มีที่ติ ท่านเจ้าเมืองและภรรยาจึงปรึกษากันเพื่อเฟ้นหาหญิงสาวให้เป็นคู่ครอง จึงเรียกลูกชายเข้ามาหารือกันในเรื่องนี้ เจ้าเมืองผู้เป็นพ่อจึงพูดกับลูกชายว่า “บัดนี้เจ้าก็โตเป็นหนุ่มใหญ่ อายุสมควรที่จะแต่งงานมีครอบครัวแล้ว แต่คนดีอย่างเจ้า ควรจะได้แต่งงานกับผู้หญิงที่ดี งดงาม เจ้าพอหมายตาใครไว้บ้างหรือยัง” ลูกชายก้มหน้าไม่ตอบ พ่อจึงบอกลูกชายต่อไปว่า “ผู้หญิงที่เจ้าจะแต่งงานด้วยนั้น ต้องเลือกด้วยความระมัดระวัง พ่อจะให้เวลาเจ้า 7 วัน ไม่ต้องทำอะไรมากเจ้าไปตามบ้านที่เขามีลูกสาวที่เจ้าถูกตา แล้วให้ถามหญิงสาวแต่ละบ้าน ด้วยคำถามเดียวกัน คือ หากจับปลาช่อนตัวใหญ่มากมาได้ตัวหนี่ง จะทำอย่างไรกับปลาช่อนตัวนั้นจึงจะกินได้นานๆ”
ฝ่ายภรรยาเจ้าเมืองก็กำชับลูกชายว่า “อย่าลืมหล่ะพอครบ 7 วัน จงรีบกลับบ้านตามคำสั่งของพ่อ” เนื่องจากลูกชายเจ้าเมืองเป็นหนุ่มรูปงามมารยาทดี แล้วยังเป็นลูกชายโทนของเจ้าเมือง จึงเป็นการสะดวกแก่เขายิ่งนัก เมื่อพบหญิงสาวบ้านใดเขาก็จะถามเพียงประโยคเดียวเหมือนกันว่า “ถ้าแม่นางได้ปลาช่อนตัวโตๆมาตัวหนึ่งทำอย่างไรจึงจะกินได้นานๆ” หญิงเหล่านั้นก็มักจะตอบคล้ายๆ กันว่า “จะยากอะไร เอาไปทำปลาร้าเสียซิ จะได้เก็บไว้กินค้างปีได้อย่างสบาย ปลาร้าน่ะยิ่งเก็บค้างปียิ่งอร่อยนะจ๊ะ” บางบ้านก็ตอบผิดแผกไปนิดหน่อย คือตอบว่า “เอาปลาไปย่างไฟให้แห้ง แล้วตากแดดไว้ ค่อยๆ บิเอาออกมากิน ตัวหนึ่งก็จะกินไปได้หลายหน” เจ้าหนุ่มก็รับโดยพยักหน้า เพราะคำตอบเหล่านั้นก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนัก
ในที่สุด เขาก็มาถึงบ้านหลังหนึ่ง ไม่ได้ร่ำรวย แต่ดูสะอาดเรียบร้อย บริเวณบ้านรื่นตา มีสวนครัวอยู่หลังบ้าน น่าสบายยิ่งนัก เขาเห็นหญิงสาวคนหนึ่ง กำลังเก็บดอกไม้อยู่ เขาก็เดินเข้าไปแล้วถามประโยคเดิม เมื่อหญิงสาวเงยหน้าขึ้นตอบเขา เขาก็ตะลึงอยู่กับที่ นางนั้นยิ้มแย้มพองาม หน้าตาหมดจด แล้วนางก็ตอบด้วยน้ำเสียงที่น่าฟังมีจังหวะจะโคนว่า “ฉันจะเอาปลาตัวนั้นไปแกง แล้วแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งจะเอาไว้กินกันเองในครอบครัวฉัน อีกส่วนที่เหลือฉันจะเอาไปแจกเพื่อนบ้าน” “อ้าว! แม่นาง อย่างนั้นก็จะกินแกงวันเดียวหมดนะซี แล้วจะเก็บไว้กินนานๆ ได้อย่างไร” “คือว่า ส่วนที่บ้านฉันจะกินนั้น ก็จะหมดในวันนั้น หมดแล้วเราหาปลามาในวันอื่นได้ ก็คงจะมีกินกันได้อีก” “แล้วที่เอาไปแจกเพื่อนบ้านล่ะแจกทำไม” สาวจึงตอบด้วยเสียงหนักแน่นและแสดงความมั่นใจว่า “นั่นแหละ! ทำให้กินปลาได้นานไม่รู้จบละ เราเอื้อเฟื้อคิดถึงเขา เขาก็จะคิดถึงเรา มิตรจิตก็มิตรใจยังไงล่ะจ๊ะ ปลาตัวนี้จะกินไม่รู้จักหมด” ชายหนุ่มรู้สึกซาบซึ้ง ในคำตอบของหญิงสาวยิ่งนัก จึงรีบกลับบ้าน เล่าเรื่องต่างๆ ให้พ่อแม่ฟังว่าใน 7 วันนั้น เขาไปพบหญิงสาวกี่คน และคนไหนตอบเรื่องปลาช่อนตัวโตว่าอย่างไรเมื่อเขาเล่าถึงสาวคนที่เขาพบล่าสุด เจ้าเมืองและภรรยาก็ตกลงใจทันที ที่จะเลือกหญิงสาวผู้แบ่งแกงออกเป็น 2 ส่วนเป็นลูกสะใภ้ ต่อมาชายหนุ่มและภรรยา ก็ได้รับความสุขความเจริญ ด้วยคุณธรรมความดี และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนใกล้เคียง จึงเป็นที่นิยมชมชอบของคนทั่วไปชั่วกาลนาน
หากว่านำเรื่องนี้ไปเล่าต่อให้เด็กๆ ได้ฟัง ความหวังที่เราจะมีสังคมที่น่าอยู่ก็คงอยู่ไม่ไกลเกินไป เราปฏิบัติต่อเด็กๆ อย่างไร เด็กๆ ก็จะปฏิบัติต่อสังคมอย่างนั้น...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น