วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ปัญหามีไว้ให้แก้

ปัญหามีไว้ให้แก้

เป็นธรรมดาของการทำงานร่วมกันกับคนหลายๆคนกับหลายๆฝ่าย สิ่งหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นเสมอๆนั่นก็คือ ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน แต่ถ้ามีการจัดการบริหารที่ดี สามารถนำความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆมาประยุกต์ใช้ และเรียนรู้ที่จะยอมรับในความแตกต่าง รู้จักชั่งน้ำหนักว่าสิ่งใดควรทำ ความคิดเห็นแบบไหนที่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ก็จะไม่เกิดการสะดุดในการทำงาน

แต่สำหรับสังคมคนยุคใหม่ที่ต่างคน ต่างคิดว่าตัวเองเจ๊งที่สุด เก่งที่สุด และเป็นยุคสมัยที่ไม่ยอมลดราวาศอกกัน แถมด้วยการศอกกลับใส่กันอีกต่างหาก สังคมจึงเต็มไปด้วยปมปัญหา และเริ่มทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกว่าเราจะรู้ตัวก็มีผู้อื่นช่วงชิงสิ่งดีๆเหล่านั้นไปหมด สุดท้ายเหลือแต่ความแห้งแล้ง สุดท้ายเหลือแต่ความว่างเปล่า

บ่อยครั้งบางคนก็มักย่ำรอยอยู่กับที่ กับปัญหาเดิมๆมีแนวคิดเดิมๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาใหม่ๆได้ ทำไปทำมาดูเหมือนเป็นการวิ่งไล่ตามปัญหาเสียมากกว่า การแก้ปัญหาให้ตรงจุดจึงเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง มองในมิติความเชื่อปัญหาทั้งหลายแก้ได้โดยอาศัยความรักและความเข้าใจเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็เป็นขบวนการที่กระทำออกมาสู่ภาคปฏิบัติ การแก้ปัญหาเป็นการฝึกฝนความคิด ฝึกฝนความอดทนและฝึกที่จะอยู่กับสรรพสิ่งอย่างสันติ หากสถาบันไหน สังคมไหน ไม่มีปัญหาก็คงไม่มีการพัฒนาและเติบโต ใช่หรือไม่ การอะลุ่มอล่วยกันบ้าง ยอมกันบ้างในบางครั้ง สำคัญกว่าการไปสู่ความสำเร็จท่ามกลางความขัดแย้งและเปี่ยมไปด้วยกองทุกข์

การโต้เถียงกันในการพูดคุยสนทนา ในการประชุมบ่อยครั้งนำมาซึ่งปัญญา ในสังคมชาวตะวันตกมักจะมีวัฒนธรรมแห่งการโต้เถียง มีวัฒนธรรมที่หาเหตุผลมาคัดง้างกัน นี่จึงเป็นที่มาของศาสตร์และศิลป์ในหลายๆแขนง แต่พอหันกลับมามองในสังคมบ้านเรา การโต้เถียงจะกลายเป็นความขุ่นเคืองกัน กลายเป็นความเกลียดชังกัน เป็นความเคียดแค้นแก่กัน จึงไม่แปลกใช่ไหม...ที่สังคมเราวันนี้ดูจะไม่ก้าวหน้าไปไหน ขัดแย้งกันอยู่ในเรื่องเดิมๆ จนกระทั่งรอบบ้านเมืองเราเขาไปถึงไหนกันแล้ว ทำให้คิดถึงนิทานเรื่องหนึ่งขึ้นมา เรื่องมีอยู่ว่า

ณ แม่น้ำแห่งหนึ่งมีหอยกาบตัวหนึ่งโผล่หัวออกมาเพื่ออาบแดดอยู่บนพื้นดินริมตลิ่ง พลันก็มีนกปากห่างตัวหนึ่งตรงรี่เข้ามาใช้จะงอยปากหวังจิกกินเนื้อหอยตัวนั้น หอยกาบจึงรีบหุบเปลือก 2 ข้างเข้าด้วยกัน หนีบเอาจะงอยของนกปากห่างเอาไว้อย่างแนบแน่น นกจึงอ้าปากไม่ได้ เวลาผ่านไปนานแสนนาน หอยกาบเมื่อขึ้นจากน้ำมาเป็นเวลานานเริ่มรู้สึกตัวเองจะแห้งตายอยู่แล้ว นกก็เมื่อยปากเพราะมันไม่ได้อ้าปากมานานเช่นกัน ทำให้ทั้ง 2 รู้สึกลำบากมาก จากนั้นจึงเริ่มทะเลาะกัน

นกปากห่างกล่าวว่า ถ้าวันนี้ฝนไม่ตก พรุ่งนี้ฝนก็ไม่ตกอีก หอยกาบในโลกนี้คงจะน้อยลงไปอีกหนึ่งตัวแน่ๆ (ถ้าไม่ได้น้ำหล่อเลี้ยงหอยกาบคงต้องแห้งตาย)
หอยกาบจึงตอบโต้ไปว่า แต่ถ้าวันนี้ปากของแกอ้าไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ยังอ้าไม่ได้ ในโลกนี้ก็คงจะมีศพนกปากห่างเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งศพกระมัง (หากไม่สามารถอ้าปากกินอาหารนกปากห่างก็คงจะต้องหิวตายเช่นกัน)
สัตว์ทั้ง 2 ชนิดล้วนไม่มีใครยอมใคร พอดีกับที่เวลานั้น มีคนตกปลาผู้หนึ่งเดินผ่านมาพบเห็นจึงจับทั้งนกและหอยกลับบ้านไปพร้อมกัน

นกกับหอยทะเลาะกัน แต่คนตกปลาได้รับประโยชน์ เป็นข้อคิดตักเตือนว่า ยามที่ต้องทะเลาะ หรือมีปากเสียงกับผู้อื่น ควรใช้สติปัญญา สำหรับเราคริสตชน เรามีความเชื่อถึงการเป็นอยู่ขององค์พระจิตเจ้าที่สถิตกับเรา หากเราให้พระองค์ทรงนำทางในการแก้ไขปัญหา แทนที่จะใช้อารมณ์เพียงอย่างเดียว จะทำให้เราพบกับความสุขขึ้นมาได้บ้างในชีวิต

เรามักจะได้ยินได้ฟังกันบ่อยๆว่าปัญหามีไว้ให้แก้ไม่ใช่มีไว้ให้แบก แต่เอาเข้าจริงเจอปัญหาจริงก็ไขว้เขว นำปัญหามาแบกใส่จนหลังอาน เป็นที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง มนุษย์เราพัฒนาเทคโลโนยี พัฒนาสิ่งต่างๆได้อย่างก้าวล้ำ แต่ในโลกก็ยังพบเจอแต่ปัญหาเดิมๆ ผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังแก้ไม่ตก ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมโลก มีคนจนจำนวนมาก มีคนไร้โอกาส คนด้อยโอกาสจำนวนมากเหมือนเดิม ปัญหาเรื่องการคดโกง การทุจริต คอร์รัปชั่น ก็มีมาทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าจะมีคนคิดประดิษฐ์ระบบการตรวจสอบ ก็ไม่สามารถทำให้ปัญหานี้หมดไปได้ แล้วจะทำอย่างไรเล่าเพื่อให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป จะต้องให้ศาสดามาปรากฏสักกี่องค์ ใจของมนุษย์จึงจะลดละซึ่งกิเลส ความโลภ ละโมบลงได้ แต่นั่นแหละนี่คงเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้เราต้องอยู่กับปัญหาเพื่อจะได้มีปัญญาเพิ่ม หาใช่มีตัณหาเพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: