วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เวลาและความเปลี่ยนแปลง

 

เวลาและความเปลี่ยนแปลง

>>> หากโลกยังหมุนอยู่ เวลาและการเปลี่ยนแปลงก็จะคงเดินหน้าต่อไป <<<

และแล้วก็หมดไปอีกปี ยิ่งมีอายุยิ่งรู้สึกว่าเวลาเดินรวดเร็วเหลือเกิน ดูเหมือนเพิ่งจะฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ไปไม่นาน อ้าว..ฉลองอีกแล้วเหรอ เมื่อพูดถึงเวลาก็ต้องคิดถึงการเปลี่ยนแปลง สองสิ่งนี้คู่กันเสมอ วันสิ้นปีเช่นนี้เราก็มาทบทวนว่าชีวิตเรานั้นเปลี่ยนแปลงเช่นไร ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ยิ่งชีวิตภายใน ที่บ่อยครั้งเรามักจะละเลย เพิกเฉย พัฒนาขึ้นหรือแย่ลง สังเกตง่ายๆว่าเรามีความสุขมากขึ้นหรือน้อยลง ...

“เวลา” ไม่เคยรอใครอยู่ข้างหน้าและไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะเดินของมันไปเรื่อย ๆ ไม่ช้าไม่เร็วและไม่หยุดเดิน มีแต่ความรู้สึกของเราที่ไปวัดความช้าเร็วของวันเวลา เราต่างหากที่ไม่เคยเที่ยงตรงเหมือนเวลา เวลาไม่มากำหนดกฎเกณฑ์ แต่คนเราต่างหากที่ใช้มันมากำหนดสิ่งต่าง ๆ จนคิดกันไปว่า “เวลา” สำคัญและมีค่ามากกว่า “คน”  เวลาช่วยทำให้เรามองเห็นใจคนชัดเจนขึ้น เราอยากจะหยุดเวลาเอาไว้ ในจังหวะที่ทำให้เรามีความสุข จนไม่อยากปล่อยให้ผ่านพ้นไปสักวินาทีเดียว ยามเราทุกข์เกิดเรื่องไม่สบายใจ เรากลับอยากให้เวลานั้นผ่านพ้นไปเร็วที่สุด สุดท้ายแล้ว เวลาก็เดินไปอย่างซื่อสัตย์ ไม่เคยเข้าข้างใคร


“ความเปลี่ยนแปลง” เป็นธรรมดาของโลกนี้ที่เราต้องเรียนรู้ ยอมรับและเตรียมพร้อมที่จะอยู่กับมัน ความเปลี่ยนแปลง อาจจะทำให้เราเจ็บปวดบ้างในบางหน แต่เราต้องอดทนเข้มแข็ง เฉกเช่นความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล   ที่ทำให้รู้ว่า ทุกอย่างในชีวิตต้องใช้เวลารอคอยจนกว่ามันจะผ่านไป คนจำนวนไม่น้อยมักคิดว่า เมื่อเลือกอะไรไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ คิดไปกันเองว่าเราเชี่ยวชาญอันนี้ก็ไม่อยากเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ได้เลือกไปแล้วมันไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความสุข ก็ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะเลือกก็ต้องคิดอย่างรอบคอบว่า นี่คือ สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต ทบทวน เรียนรู้ ยอมรับ แล้วเราจะพบว่า “เรื่องเลวร้ายที่สุด” เกิดขึ้นได้ “เรื่องที่ดีที่สุด” ก็เกิดขึ้นได้ ทุกเวลาทุกการเปลี่ยนแปลง “ยังมีสิ่งดี ๆ รออยู่เสมอ” เพราะพระเจ้าทรงเห็นว่าทุกอย่างนั้น “ดี”

วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เพื่ออะไร?

 

เพื่ออะไร?

>>> อย่าปล่อยให้การเกิดมาของเราเป็นการสูญเปล่า ใช้ชีวิตเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับโลกใบนี้ <<<

เส้นทางชีวิตของคนเราก็เป็นไปไม่ได้ที่จะพบความสุขได้ตลอดเวลา ไม่ว่าเศรษฐี ชาวบ้านหรือยาจก ก็ย่อมมีความทุกข์ท้อในรูปแบบของตนเอง คำถามที่ว่า “เราเกิดมาเพื่ออะไร” บางคนอาจบอกว่าเกิดมาเพื่อชดใช้บาปกรรม บางคนอาจมีเพียบพร้อมก็เกิดมาเพื่อเสวยสุข บางคนค้นพบความสุขในแบบของตัวเองเพื่อหลุดพ้นในทางธรรม บางคนค้นพบความสุขด้วยการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง จัดการสมดุลของวิถีทาง ตัดความอยากได้อยากมี ก็พอหาความสุขแบบไม่มีหนี้สิน


หากมาย้อนดูชีวิตตามวัย เรามีวัยเด็กแค่ 3 ปี (สมัยก่อนก็อาจจะ 5- 7 ปี) ก่อนถูกส่งเข้าเรียนอนุบาลและเรียนหนังสืออีก 20-25 ปี กว่าจะจบปริญญาตรี จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงาน สร้างฐานะสร้างครอบครัว อีกสัก 30-35 ปี เป็นช่วงชีวิตที่ต้องดิ้นรน ไขว่คว้า สุขมากทุกข์มากก็ช่วงนี้แหละ เกษียณตอนอายุ 55- 60 มีบ้างบางคนได้ทำงานต่อ บางคนมีเงินเก็บ บางคนมีธุรกิจรองรับ บางคนเป็นข้าราชการมีเงินบำนาญใช้ บางคนโชคดีมีลูกหลานเลี้ยงดู แต่...หลายคนไร้โชค ต้องอยู่โดดเดี่ยว ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีรายได้ มีโรคภัยรุมเร้า ป่วยติดเตียง แต่หากคนที่เตรียมพร้อม และรู้ว่าเราเกิดมาย่อมมีคุณค่าในตัวเอง แล้วใช้คุณค่านั้นอย่างดี ชีวิตที่เหลืออยู่ก็มีความสุขสันติ

ชายผู้ยากจนคนหนึ่งถามผู้บรรลุธรรมว่า “เหตุใดข้าจึงยากจนยิ่งนัก? ผู้บรรลุธรรมตอบว่า

“ท่านไม่รู้จักการให้และวิธีให้” ชายผู้ยากจนจึงพูดต่อว่า “ทั้งที่ข้าไม่มีสิ่งใดให้นี่นะ?ผู้บรรลุธรรมตอบว่า “ท่านนั้นมีอยู่ไม่น้อยเลย ใบหน้าท่านซึ่งสามารถให้รอยยิ้ม ความสดใส สดชื่น เบิกบาน ปากท่าน สามารถชื่นชมให้กำลังใจหรือปลอบประโลมผู้อ่อนแอ ปัญญาท่านก็สามารถให้ความรู้ ให้แสงสว่างแก่ผู้คน หัวใจอันยิ่งใหญ่ของท่าน สามารถเปิดออกกับผู้อื่น ให้ความจริงใจใสบริสุทธิ์ ให้ความเมตตากับผู้ผ่านพบ ดวงตาท่านก็สามารถมองดูผู้อื่น ด้วยสายตาแห่งความหวังดี ด้วยความโอบอ้อมอารี ที่สุดร่างกายท่านซึ่งสามารถใช้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ฉะนั้นแท้จริงแล้ว ท่านมิได้ยากจนเลย” ความยากจน ในจิตใจ คือ ความยากจนอันแท้จริงต่างหาก...

วันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เบิกบาน เบิกบุญ

 

เบิกบาน เบิกบุญ

>>> “เมื่อท่านหัวเราะ โลกก็จะร่วมหัวเราะไปกับท่าน

แต่เมื่อท่านร้องไห้ ท่านจะต้องร้องไห้เพียงคนเดียว” <<<

ได้รับคำเชิญชวนให้ไปช่วยนำกิจกรรมสันทนาการให้กับเด็ก ๆ ในการ “แบ่งปันคริสต์มาส” ของชมรมผู้สูงอายุวัดเซนต์หลุยส์ร่วมกับอาสาโคเออร์ ที่ศูนย์บ้านพระบิดา  แถวสวนผึ้ง ราชบุรี ได้รับรู้เพียงว่าจะมีเด็ก ๆ ร่วมกิจกรรมประมาณสัก 40 กว่าคน ส่วนข้อมูลอื่น ๆ สถานที่เป็นอย่างไร มีเครื่องมืออุปกรณ์อะไรบ้าง คาดเดาไม่ถูก คิดเพียงว่าเราจะต้องทำให้เด็กสนุกสนานร่าเริง


และผู้ร่วมทางสายบุญครั้งนี้ หลายคนก็เพิ่งพบปะกันเป็นครั้งแรก เมื่อออกเดินทางการพูดคุยก็ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป บรรยากาศฉันท์มิตรคริสตชนก็เริ่มสร้างชีวิตชีวาในระหว่างทาง ความเบิกบานก็บังเกิดขึ้น เราแวะขอพรที่วัดนักบุญอักแนส ชัฐป่าหวาย ต่อด้วยการรับพรจากคุณพ่อที่วัดแม่พระฟาติมา ห้วยคลุม จนกระทั่งเราไปถึงศูนย์เกือบ ๆ เที่ยง ได้เวลาอาหาร เมื่อรถจอดเพื่อนำสิ่งของที่มีผู้บริจาคฝากมาเต็มคันรถลง เด็ก ๆ ต่างก็วิ่งมาทักทาย หลายคนพูดเป็นภาษาอังกฤษ
What is your name? เด็กที่นี่พูดภาษาอังกฤษเก่ง เพราะผู้ดูแลศูนย์เป็นชาวฟิลิปปินส์ และได้ทำอาหารฟิลิปปินส์ต้อนรับคณะเราด้วย ระหว่างทานอาหารก็เห็นเด็ก ๆ คละเคล้าทั้งเด็กโตและเด็กเล็ก และน่าจะฟังภาษาไทยพอรู้เรื่อง แต่...ไม่มีห้องประชุม มีเพียงลานปูนเล็ก ๆ หน้าศูนย์ มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ไม่มีเครื่องเสียงแถมติดกับถนน กิจกรรมที่เตรียมไว้จำต้องยกเลิกเพราะสถานการณ์ไม่เอื้อ คิดอะไรได้ก็ทำ เมื่อเริ่มกิจกรรมทุกสิ่งก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ พระจิตนำทาง มีจุดมุ่งหมายเพียงสร้างความสนุกสนาน รื่นเริงให้เกิดขึ้น บางทีประสบการณ์มีค่ามากกว่าหลักการ แล้วเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว สร้างความสนุกสนานและการมีส่วนร่วมของเด็ก ๆ กับคณะที่เดินทางไปครั้งนี้ เด็กเบิกบานด้วยการเบิกบุญของพวกเรา ทำให้ทุกคนสดใสขึ้นมา ใช่หรือไม่ การมีชีวิตที่เบิกบานนั้น มันมีค่ายิ่งนัก การให้ที่ยิ่งใหญ่ คือ การให้ชีวิตที่เบิกบานกับผู้คน




ผู้ที่มีหัวใจเบิกบาน บางครั้งก็ช่วยให้รอดพ้นจากภยันตรายในชีวิตได้ การที่จะฝึกใจให้มีความเบิกบาน ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก ต้องหัดมองเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในแง่ดี วางใจในพระ เพราะพระองค์นำทางเราเสมอ มองในทางบวก เมื่อเราประสบเรื่องทุกข์ร้อนใด ๆ ก็อย่าให้ความทุกข์นั้นมากัดกร่อนกินให้ใจสลาย แก้สถานการณ์ด้วยประสบการณ์ อย่างมีสติ อย่ายึดติดกับหลักการและอุดมการณ์จนเกินงาม อดทนต่อความยากลำบาก และการได้อยู่กับผู้ที่รื่นเริงเบิกบาน แจ่มใส่ ก็ทำให้จิตใจเราเบิกบานไปด้วย รู้จักหาความสุขจากสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่อิจฉาริษยาผู้อื่น ไม่โลภในสิ่งที่เราไม่มี ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงเกินเอื้อมมือคว้า

ในชีวิตจริงของเรานั้นสิ่งที่จะทำลายความเบิกบาน ก็คือ หัวใจที่จมในความทุกข์ ความวิตกกังวล เราจงอย่ายอมให้จิตใจเป็นเช่นนั้น ระบายความวิตกทุกข์ร้อนบ้าง ทำบุญให้ทาน หากชีวิตยังมีแรงยิ้ม มีแรงหัวเราะ ก็ยิ้มและหัวเราะเสียบ้าง จิตใจเราย่อมสัมพันธ์กับร่างกาย การยิ้มการหัวเราะอยู่เสมอ สามารถขับไล่ความทุกข์ร้อนออกไป พระเยซูเจ้าสอนเราว่า “อย่าวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้ เพราะวันพรุ่งก็จะมีเรื่องวิตกกังวลเกี่ยวกับพรุ่งนี้เอง แต่ละวันก็มีความเดือดร้อนของมันพออยู่แล้ว” (มัทธิว 6: 34) จงรักษาความเบิกบานไว้ เพราะนี่คือความสุข เมื่อมี “ความสุข” ก็รักษาความสุขนั้นให้คงอยู่ตลอดไป มาเตรียมรับเสด็จพระกุมารคริสตเจ้าด้วยหัวใจที่เบิกบาน ในวิถีชีวิตประจำวัน ด้วยหัวใจแห่งการให้ซึ่งกันและกัน ให้ด้วยหัวใจที่เบิกบาน....

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566

หล่อเลี้ยงด้วยรัก

 

หล่อเลี้ยงด้วยรัก

>>> การทำงานโดยปราศจากความรักคือการเป็นทาส : นักบุญเทเรซา แห่งกัลกัตตา <<<

            ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเรื่อยมาจนถึงสิ้นปี จะเห็นการจัดงานแต่งงานกันมากมาย แม้แต่ที่วัดเซนต์หลุยส์ก็มีหลายคู่ที่มาทำพิธีแบบคาทอลิก เป็นที่น่ายินดีที่เราเห็นทุกคนมีความรักและคนที่พร้อมจะสร้างครอบครัวไปด้วยกั เช่นกัน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราก็เห็นข่าวการเลิกรา การหย่าร้าง ของคนในสังคมมากขึ้น บางทีก็คิดว่า เวลาเปลี่ยน ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง วิถีผู้คนก็เปลี่ยนไป เราอดทนต่อกันน้อยลง เราไม่ค่อยใส่ใจดูแลกันเหมือนวันที่เราสัญญา ทำกันเพียงให้เป็นพิธีกรรมที่ดูดีดูเท่ในวันนั้น ๆ คนเราวันนี้ต่างก็เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ คิดว่าเราเก่ง เราเริดสุดแล้ว เราไม่ได้ใช้ความรักหล่อเลี้ยงชีวิต เราใช้ความอวดเก่งห่อหุ้มชีวิตกัน บางทีเราก็แยกไม่ออกระหว่าง ความเชี่ยวชาญชำนาญ กับ ความเก่ง ถ้าจะเป็นคนเก่ง ต้องมีความลุ่มลึก แตกฉาน ต่อยอดในสิ่งนั้น ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความรักในการทำสิ่งนั้น หลายคนทำเพราะต้องทำ แต่ไม่ได้มีความรักในสิ่งนั้น มีความเชี่ยวชาญแต่ไม่มีความสุข

 


ถ้าเรามีความรักจนมอบชีวิตจิตวิญญาณให้กับสิ่งที่รัก ก็จะไม่มีอีโก้ จะซื่อสัตย์ ไม่อิจฉาริษยา จะไม่เป็นทุกข์อะไรง่าย ๆ เพราะชีวิตจิตวิญญาณของเราได้มอบให้กับสิ่งที่รักแล้ว สิ่งที่รักจะอยู่ในจิตวิญญาณของเรา  คนที่มีความรู้สึกเช่นนี้ จะไม่มีความกลัวสิ่งใด ๆ ไม่รู้สึกความต่ำต้อยไร้ค่า ไม่ได้ยึดติดกับความสวยความหล่อ ความร่ำรวย ไม่ยึดติดกับกิเลสตัณหา ความโลภความหลง อำนาจบารมี ไม่กลัวความยากลำบาก มีความอดทนเป็นที่ตั้ง ดังเช่นมารีย์และโยแซฟ  มุ่งหน้าสู่เบธเลแฮม โดยมีรักของพระเจ้านำทางและหล่อเลี้ยงชีวิต

เราต้องเริ่มรักตัวเองให้เป็น ก่อนที่จะไปรักคนอื่น ถ้าเรายังไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง แล้วเราจะไปคาดหวังให้คนอื่นมารักเรา นี่ก็คือการเห็นแก่ตัวชนิดหนึ่ง ถ้าเรารักตัวเอง เราจะเห็นคุณค่าของเรา การรักตัวเองคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการมีความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ให้ความรักนำทางเรา อย่าให้ความเก่งวิ่งแซงไป....

วันเสาร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2566

กว่าจะเป็นเช่นวันนี้

 

กว่าจะเป็นเช่นวันนี้

>>> สิ่งที่เห็นและเป็นเช่นวันนี้ ย่อมผ่านพ้นหนทางทุกข์สุขมาด้วยกันทั้งนั้น <<<

การจากไปของคุณพ่อปีแอร์ ลาบอรี ในวัย 98 ปี ที่ใช้ชีวิตรับใช้พระศาสนจักรไทยมาค่อนชีวิต ได้ทำให้เราย้อนรำลึกถึงพระคุณของท่าน โดยเฉพาะที่วัดเซนต์หลุยส์ ท่านเป็นผู้ก่อร่างปูทางในหลายสิ่งที่เราเห็นเช่นวันนี้ คุณพ่อเกิดวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1925  ที่ฝรั่งเศส  บวชเป็นพระสงฆ์ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1949  อีกสามเดือนต่อมาท่านก็มาถึงประเทศไทย เรียนภาษาไทยที่นครชัยศรีภายในสามปี มาเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่วัดอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ  ไปช่วยงานที่เชียงใหม่  ที่โนนแก้ว นครราชสีมา  กลับมาช่วยงานที่กรุงเทพฯ


กระทั่งในปี ค.ศ. 1960-1967    ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ  องค์ที่ 2
  ต่อจาก พระคุณเจ้าลังเยร์ ที่ได้รับการแต่งตั้งไปเป็นพระสังฆราชนครสวรรค์ ตลอด 7 ปี มีมากมายที่เกิดขึ้น ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนวิริยาลัย แยกนักเรียนชายไปเรียนที่นั่น (ปัจจุบันคือวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ซอย1)  ได้ปรับเปลี่ยนพระแท่นในวัดให้มาอยู่ตรงกลางตามสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่ให้พระสงฆ์หันหน้าหาสัตบุรุษเวลาประกอบพิธีมิสซา ซึ่งช่วงนั้นสัตบุรุษหลายคนไม่เข้าใจ บางคนก็ต่อต้านการปรับย้ายครั้งนั้น ด้วยความอดทนทำตามพระศาสนจักรกำหนดอย่างเต็มที่ เมื่อเวลาผ่านไปทุกคนก็ลืมเรื่องราวเหล่านั้นและมา “ร่วมพิธีมิสซา” อย่างดี มิใช่มาเพียง “ฟังมิสซา”

คุณพ่อเอาใจใส่และเยี่ยมเยียนชุมชน ช่วยเหลือสัตบุรุษที่ขัดสน ให้การศึกษากับนักเรียนที่ไร้ทุนทรัพย์ เอาใจใส่ในกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด สนับสนุนพลมารีทุกรุ่น กลุ่มผู้สวดภาวนาผู้ล่วงลับภาษาจีน วินเซนเดอปอล เครดิตยูเนี่ยนและเยาวชน นักขับร้อง เด็กช่วยมิสซา เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับวัด แม้กระทั่งสารวัดก็เริ่มในสมัยคุณพ่อ

หลังจากนั้นคุณพ่อไปช่วยงานสังฆมณฑลนครสวรรค์  ในช่วงปี ค.ศ. 1992-1995 ท่านต้องกลับไปเป็นอธิการบ้านพัก ที่มองเบอตอง ฝรั่งเศส เมื่อหมดวาระคุณพ่อก็ขอกลับเมืองไทย มาช่วยงานที่สังฆมณฑลนครสวรรค์ จนวาระสุดท้าย  ในวันฉลองวัดเซนต์หลุยส์  เมื่อปี 2019 คุณพ่อปิแอร์ ลาบอรี่ ได้มาเป็นประธานพิธีฉลองวัด คุณพ่อได้กล่าวไว้ว่า ผมจะอยู่กับคนไทยตลอดไป ผมรักประเทศไทย นี่คือสิ่งที่เห็นเป็นวัดเซนต์หลุยส์เช่นในวันนี้ ผ่านทางคุณพ่อปีแอร์ ลาบอรี ผู้แข็งแกร่ง และสงฆ์นิรันดร์ ...