วันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กลับบ้านอย่างสุขใจ


กลับบ้านอย่างสุขใจ
การออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน ทำภารกิจประจำวันของเราแต่ละคนนั้น ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือเราต่างกระทำภารกิจนั้นให้แก่กันและกันโดยรู้ตัวบ้างและไม่รู้ตัวบ้าง และจะดีไม่น้อยเลยหากเราพยายามทำให้รู้ตัวบ่อย ๆ ว่าสิ่งที่เราได้กระทำอยู่นั้นมีประโยชน์ต่อผู้อื่นเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นนักบริหาร แม่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง รปภ. ไม่ว่าจะเป็นนักบวช พนักงานประจำ ทุกชีวิตต่างเอื้อเกื้อกูลกัน ยิ่งเราตระหนักถึงสิ่งที่เราทำนั้นเพื่อผู้อื่นมากกว่าตัวเองมากเท่าใด เราจะกลับบ้านอย่างสุขใจทุกครั้งมากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ว่า รอหมดเวลาเพื่อรีบกลับบ้าน แล้วกลับไปจมปลักกับความทุกข์พร่ำบ่นว่าทำไมไม่ได้ไม่เป็นอย่างคนนั้นคนนี้ หรือนำความอิจฉาแบกกลับบ้านไปด้วย


ในสังคมปัจจุบันที่กระแสมักจะทำให้คนเราต่างต้องดิ้นรนให้ตนเองพ้นความยากลำบาก จนกลายเป็นว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อหลุดพ้น ที่ไหนได้เราต่างก็สร้างความทุกข์สร้างปมให้กันและกันเพิ่มขึ้น เราต่างมีความเห็นแก่ตัวจนเกินขอบเขต เรามัวแต่สร้างอาณาจักรให้ตัวเองหลงลืมการสร้างอาณาจักรของพระไปเสียสิ้น บางครั้งเราต่างก็คิดว่าเราต้องสร้างเกราะสร้างกำแพงเพราะความกลัวว่าชีวิตจะไม่มั่นคง ยิ่งสร้างกลับยิ่งกลัวยิ่งกลวง และหยุดที่จะก้าวเดินในหนทางธรรม สิ่งแรกเราต้องคิดเสมอว่าเรามิได้อยู่คนเดียวลำพังในโลก เรามีกลุ่ม มีเพื่อน มีครอบครัวและเราต้องเดินก้าวไปด้วยกัน ใครกลัวใครล้มก้าวไม่ไหว ก็ช่วยกันประคอง เพื่อเราจะกลับบ้านด้วยกันอย่างสุขใจ
ครั้งหนึ่ง พระสันตะปาปาทรงให้เด็กนักเรียน พร้อมด้วยผู้ปกครองและครูอาจารย์กว่า 9,000 คนจากโรงเรียนของคณะเยสุอิตเข้าเฝ้า โดยช่วงแรก พระสันตะปาปาทรงเตรียมบทสคริปท์ที่จะพูดกับเด็ก ๆ ไว้แล้ว แต่พระองค์เปลี่ยนใจ โดยยกสคริปท์ขึ้นมาและกล่าวว่า “จริง ๆ แล้ว พ่อเตรียมสคริปท์ไว้ 5 หน้า แต่พ่อเปลี่ยนใจไม่ใช้ดีกว่า พูดตามสคริปท์มันน่าเบื่อ! พ่อขอพูดสด ๆ กับพวกหนูก็แล้วกัน” ...
หลังจากพูดเสร็จ พระสันตะปาปาทรงเชิญเด็ก ๆ ถามคำถามพระองค์ในสิ่งที่อยากรู้ แล้วพระองค์จะตอบพวกเขาแบบเป็นกันเอง เราไปดูกันว่า งานนี้ เด็กถามและพระสันตะปาปาตอบ จะสนุกขนาดไหน
เด็กถาม: “พระสันตะปาปา ฟรังซิส พระองค์เคยต้องการจะเป็นพระสันตะปาปาไหมคะ”
พระสันตะปาปาตอบ: “หนูก็รู้อยู่แล้วว่า ใครที่ต้องการเป็นพระสันตะปาปา คนนั้นย่อมสนใจตัวเองมากกว่าพระศาสนจักร ซึ่งพระเจ้าไม่ต้องการคนแบบนี้ สำหรับตัวพ่อเอง พ่อไม่เคยต้องการจะเป็นพระสันตะปาปาเลย”

ภาพ : อินเตอร์เน็ต
เด็กถาม: “ทำไมพระองค์ไม่พักในวังพระสันตะปาปาคะ”
พระสันตะปาปาตอบ: “มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตฝ่ายจิตน่ะ การอยู่ตามลำพังในวังพระสันตะปาปาทำให้พ่อไม่สามารถแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้กับเพื่อนพี่น้อง นิสัยของพ่อคือชอบอยู่เป็นหมู่คณะ (เพราะเป็นคณะนักบวชที่มีจิตตารมณ์อยู่เป็นหมู่คณะ) พ่อพยายามดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ไม่หรูหรา ไม่ฟุ่มเฟือย เพื่อที่เราจะได้เหมือนกับผู้ยากไร้และยึดความยากจนแบบพระเยซู ... เด็ก ๆ ที่รัก พ่ออยากเชิญชวนหนู ๆ ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย ลองดูรอบตัวเราซิ มีแต่ความหรูหรา เราถูกป้อนสิ่งฟุ่มเฟือยเข้าตัวทุกวัน ลองเปรียบตัวเรากับเด็กที่อดอยากหิวโหยดูซิ มันต่างกันมากนะ พวกหนูมีโอกาสดีและได้เกิดมาในครอบครัวที่เพียบพร้อม ก็จงอย่าทำตัวฟุ่มเฟือย แต่จงทำตัวให้เหมือนพระเยซูนะ”

ภาพ : อินเตอร์เน็ต
เด็กถาม: “พระสันตะปาปาครับ พระองค์มีคำแนะนำให้ผมไหมครับ ถ้าผมตั้งใจทำสิ่งใดแล้ว มันล้มเหลวและไม่เป็นไปตามที่ฝันอะครับ”
พระสันตะปาปาตอบ: “มีซิ พ่ออยากบอกว่า จงอย่ากลัวความล้มเหลว ความงดงามของการก้าวเดินอยู่ที่จงอย่าหลีกเลี่ยงความล้มเหลว แต่จงหลีกเลี่ยง ‘การจมปลัก’ อยู่กับความล้มเหลว ถ้าล้มแล้วต้องรีบลุก จงลุกและก้าวเดินอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม มันคงแย่ถ้าเราก้าวเดินคนเดียว มันคงน่าเบื่อไม่น้อย ดังนั้น จงก้าวเดินไปพร้อมกับเพื่อน ๆ ที่รักเราและคอยช่วยเหลือเรา จงเดินไปกับพวกเขาจนถึงเป้าหมาย
เด็กถาม: “พระสันตะปาปายังติดต่อกับเพื่อน ๆ ที่บ้าน(อาร์เจนติน่า)ไหมคะ พระองค์คิดถึงเพื่อนบ้างไหม”
พระสันตะปาปาตอบ: “หนูจ๋า พ่อเพิ่งจะเป็นพระสันตะปาปาได้แค่ 2 เดือนครึ่งเองนะ แน่นอนว่า พ่อย่อมคิดถึงเพื่อน ๆ เพราะความทรงจำเกือบทั้งชีวิตของพ่ออยู่ที่อาร์เจนติน่า พ่อคิดถึงเพื่อนพี่น้องทุกคน บ่อยครั้ง เพื่อน ๆ ก็เขียนจดหมายมาคุยกับพ่อ สิ่งหนึ่งที่พ่ออยากบอกหนูก็คือ คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้นะ เราต้องมีเพื่อน นี่เป็นสิ่งสำคัญที่พ่ออยากสอนพวกหนูนะ” (ข้อมูล : Pope Report)
วันนี้เราได้คุยกับเพื่อนกี่คน คุยกันด้วยเรื่องอันใด คุยด้วยเรื่องความดีงามมากน้อยเพียงใด แล้วกลับถึงบ้านอย่างสุขใจหรือไม่ ถ้าไม่!!! ลองดูวันพรุ่งนี้อีกครั้ง แล้วพยายามนำความสุขกลับบ้านให้ได้ในทุกครั้ง

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ทำเลยไม่พร่ำเพ้อ


ทำเลยไม่พร่ำเพ้อ
              สำหรับประเทศญี่ปุ่น ที่เพิ่งโดนพายุไต้ฝุ่นฮากีบิสถล่ม ชนิดที่ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี แต่ประเทศญี่ปุ่นก็ผ่านพ้นวิกฤติมาได้ด้วยความพร้อม ความมีวินัย การวางแผนที่ดี สื่อสารและทำตามคำแนะนำขององค์กรของรัฐอย่างจริงจัง ไม่พูดเยอะ ไม่อวดรู้ ไม่โวยวาย ไม่เรียกร้อง ร่วมมือร่วมใจกัน หลายภาพ หลายสื่อที่นำเสนอความมีวินัยและการจัดการที่รวดเร็ว ทำให้คนทั้งโลกรู้ถึงความสามัคคีและคุณภาพของคนญี่ปุ่น เราจึงเห็นความเสียหายไม่มาก และการฟื้นฟูที่รวดเร็ว ประเทศเขาเป็นประเทศที่ประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งและหนักหนา แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขาเข้มแข็ง และพัฒนาเจริญเติบโตขึ้นด้วยคุณภาพอย่างแท้จริง
             ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นเคยถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู ที่เมืองนางาซากิและฮิโรชิมา ทำให้เป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามจนเกือบสิ้นแผ่นดิน เมื่อเริ่มตั้งต้นใหม่จึงร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศจนกลายเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลกเลยทีเดียว ประเทศเขามีความสงบสุขเพราะบทเรียนจากบาดแผลของสงครามทำให้พวกเขาเห็นคุณค่าของสันติ พระสันตะปาปาฟรังซิส ปรารถนาที่จะมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจ นำสันติสุขมาสู่คนญี่ปุ่น และสำหรับเราคนไทย ถึงแม้ว่าเรายังไม่ถึงขั้นสาหัสเหมือนคนญี่ปุ่น เราเป็นเพียงกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งในประเทศนี้ แต่เราก็มีความสงบภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ตลอดมา ก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาเยือนพวกเรา เราจึงควรสร้างความหวังและสันติสุข นำแสงสว่างแห่งความรักฉายแสงสู่สังคมเพื่อให้ทุกคนที่อยู่รายล้อมเรา จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง เพื่อให้การมาเยือนของสันตะบิดรเปี่ยมไปด้วยความสุข
           ในความจริงพระสันตะปาปาพระองค์นี้มีพระชนมายุเยอะพอสมควร ร่างกายมิได้แข็งแรง แต่หัวใจของพระองค์ท่านนั้นแกร่งยิ่งนัก พร้อมที่จะมาหาลูก ๆ ผู้ห่างไกล สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เคยประทานการสัมภาษณ์ในหัวข้อการเสด็จเยือนต่างประเทศ พระองค์ยอมรับว่า ช่วงเริ่มสมณสมัย พระองค์วางแผนว่า ไม่ต้องการเดินทางไกลมากเกินไป (อาทิ ต่างประเทศ) แต่หลังจากได้ไปเยี่ยมผู้ลี้ภัยที่เกาะลัมเปดูซ่า ประเทศอิตาลี ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 2013 พระองค์ทรงเปลี่ยนความคิดทันที เพราะพระองค์สัมผัสได้จากข่าวต่าง ๆ ที่ถูกเผยแพร่ออกไปว่า การที่พระสันตะปาปาไปเยี่ยมสัตบุรุษตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้สิ้นหวัง มันเป็นการช่วยฟื้นฟูความหวังให้กับสัตบุรุษที่ได้พบพระสันตะปาปาอย่างแท้จริง พระสันตะปาปายังกล่าวด้วยว่า “พ่อไม่เคยชอบการเดินทางบ่อย ๆ ตอนเป็นพระสังฆราชที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา พ่อเดินทางมากรุงโรมเฉพาะงานที่จำเป็นและพ่อเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ สำหรับพ่อ มันเป็นเรื่องหนักเสมอที่จะต้องออกจากสังฆมณฑลของตน เพราะสำหรับสังฆมณฑล พระสังฆราชคือ “คู่ชีวิต” ของสังฆมณฑลเลยนะ”
           การเยือนต่างประเทศครั้งแรกของพระสันตะปาปาฟรังซิส คืองานเยาวชนโลก 2013 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ครั้งนี้พระสันตะปาปายอมรับว่า “งานนี้ถูกกำหนดไว้ก่อนที่พ่อจะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา และแน่นอน งานเยาวชนโลกเป็นหน้าที่สำหรับพระสันตะปาปาที่ต้องไปร่วมงาน งานนี้ไม่มีข้อสงสัยเลย ยังไง พ่อต้องไปอยู่แล้ว” พระสันตะปาปาทรงกล่าวติดตลก เวลาไปเยือนประเทศต่าง ๆ “หลายครั้ง ผู้คนจะตะโกนต้อนรับพ่อด้วยคำว่า “โฮซานนา” ปฏิกิริยาของพ่อเวลาได้ยินเขาตะโกนคำนี้ก็คือพ่อจะนึกถึงเหตุการณ์ในพระวรสาร ฝูงชนเริ่มต้นด้วยการตะโกนโฮซานนาเพื่อต้อนรับ แต่ตอนจบ เขาอาจจะตะโกนว่า “เอามันไปตรึงกางเขน” ก็ได้นะ”
           พระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงยกสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ตรัสไว้เกี่ยวกับการเสด็จเยือนต่างประเทศ มาเป็นสิ่งเตือนใจพระองค์ นั่นคือ “ไม่มีแม้แต่วินาทีเดียวที่พ่อเหนื่อยกับการยกมืออวยพรฝูงชน” คำพูดนี้ทำให้ พระสันตะปาปาฟรังซิส เข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่า ทำไมพระสันตะปาปาต้องเยือนต่างประเทศ
      พระสันตะปาปา ยังแบ่งปันด้วยว่า พระองค์ยังไม่ตัดสินใจจะเสด็จเยือนประเทศในโลกตะวันตกประเทศใด แต่ในใจของพระองค์ ทรงต้องการจะไปเยือน “ประเทศชายขอบที่หลายคนมองข้าม” มากกว่า เพราะประชาชนในประเทศเหล่านี้จะได้ประโยชน์อย่างมาก สุดท้าย พระสันตะปาปายอมรับว่า “วิธีการเข้าหาฝูงชน” ของพระองค์สร้างปัญหาให้ทีมรักษาความปลอดภัย เพราะพระองค์ไม่ต้องการใช้รถที่มีกระจกกันกระสุน และต้องการสัมผัสฝูงชนแบบใกล้ชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม พระสันตะปาปาฟรังซิส ย้ำว่า พระองค์จะไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการนี้ เพราะพระสันตะปาปาคือนายชุมพาบาลและบิดา ดังนั้น มันต้องไม่มีสิ่งกีดขวางพระสันตะปาปากับประชาชนของพระองค์ ถึงมันจะเสี่ยงภัย แต่พระเจ้าจะจัดการทุกสิ่งเอง (ข้อมูล Pope Report)

          แบบอย่างของคนญี่ปุ่นและพระสันตะบิดรของเราคือ การลงมือทำ ไว้ใจในพระ ไว้ใจในกันและกัน ไม่บ่นพร่ำเพ้อ ชีวิตแบบนี้จึงเป็นชีวิตที่จะเดินสู่สันติสุขอย่างแท้จริง ความมีวินัยอย่างหนึ่งที่แสนง่ายในชีวิตเราคือ การไม่พูดเยอะ ไม่บ่น แต่วางใจในพระและลงมือทำตามที่พระจิตเจ้านำทางหรือดลใจ สิ่งไหนทำแล้วสุขใจสิ่งนั้นคือทางแห่งความงาม...




วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่


ความเรียบง่ายที่ยิ่งใหญ่
เป้าหมายหลักของผู้คนทั่วไปคือการได้รับตำแหน่งที่สูงสุด ทำงานก็เพื่อให้เป็นเจ้าคนนายคน เราจึงต่างดิ้นรนเพื่อให้มีอำนาจ เราต่างก้าวขึ้นให้เหนือทุกคนจนลืมค่าของทุกคนไป หลงลืมไปว่า เราต่างเกิดมาเพื่อกันและกัน รับใช้กัน ที่ไหนได้ เราต่างกดขี่กัน กดดันกันเพื่อตัวเองจะได้เป็นที่หนึ่ง ใช่หรือไม่ เรามักหลงลืมคำสอนที่ว่า คนสุดท้ายจะกลายเป็นคนแรก และคนแรกจะอยู่ปลายทางหางแถว ผู้คนในยุคที่ถูกกระแสแห่งความเห็นแก่ตัวเข้าครอบครอง ทำให้เกิดภาวะไร้สุข ไม่ใส่ใจชีวิตภายใน ไร้ที่พึ่งพิง เงียบเหงาเศร้าในวิญญาณ รอวันสิ้นสลายหายไป กระแสนี้กำลังค่อย ๆ เป็นวิกฤตของสังคมโลก ที่น่ากลัวกว่าสงครามโลก อัตราการฆ่าตัวตายมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมีมากกว่าคนที่เสียชีวิตจากภัยสงครามอย่างไม่น่าเชื่อโลกเหมือนกำลังสิ้นหวัง และแล้ววันหนึ่งเกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก จากคนไร้ชื่อเสียง จากพระคาร์ดินัลละตินอเมริกาธรรมดาที่ทำให้โลกกลับหันมามอง มาใส่ใจคุณค่าชีวิตมากขึ้น
            ภายหลังจากพระศาสนจักรคาทอลิกได้ผู้นำจิตวิญญาณคนใหม่ กระแสฟีเว่อร์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทำให้ค่าเฉลี่ยในพิธีต่าง ๆ ที่พระสันตะปาปาเป็นประธานพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก อาทิ การเข้าเฝ้าทั่วไปซึ่งจะจัดทุกวันพุธที่วาติกัน ปกติจะมีคนมาเฝ้าพระสันตะปาปาประมาณ 8,000 – 25,000 คน ปรากฏว่า มีคนมาเข้าเฝ้าสูงถึง 30,000 – 70,000 คนต่อครั้ง ส่วนการสวดทูตสวรรค์แจ้งข่าวทุกเที่ยงวันอาทิตย์ (ถ้าเป็นปาสกาจะเรียกสวดราชินีแห่งสวรรค์) ปกติค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25,000 คน แต่ในยุคพระสันตะปาปาฟรังซิส ตัวเลขพุ่งสูงถึง 70,000 – 250,000 คน


จากความเรียบง่าย จากการไม่ถือตัวของพระสันตะปาปาฟรังซิส การปฏิเสธการสวมรองเท้าสีแดงอันเป็นรองเท้าพระสันตะปาปา การปฏิเสธที่จะไปนอนในวังพระสันตะปาปา แต่เลือกห้องนอนเล็ก ๆ ในหอพักซางตา มาร์ธา และอื่น ๆ อีกมากมาย สื่อมวลชนต่างประเทศต่างเรียกการตัดสินใจแบบนี้ว่า 
“ฟรังซิสสไตล์”
เหตุผลที่ไม่พำนักในวังพระสันตะปาปา – เรื่องนี้ ได้รับการเฉลยจาก “คุณพ่อฮอร์เก้ ชิชินโซล่า” สงฆ์ชาวอาร์เจนไตน์ ผู้เป็นสหายคนสนิทของพระสันตะปาปาฟรังซิส คุณพ่อชิชินโซล่าเผยว่า สาเหตุที่พระสันตะปาปายังพักที่ห้องพักเล็ก ๆ ในหอพักซางตา มาร์ธา แทนที่จะเป็นวังพระสันตะปาปา เป็นเพราะ “พระสันตะปาปาต้องการอยู่แบบหมู่คณะ(แบบจิตตารมณ์นักบวช) พระองค์ไม่ต้องการอยู่แบบโดดเดี่ยวตัวใครตัวมัน พระองค์อยากจะเสวยอาหารแบบมีเพื่อนร่วมโต๊ะและพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวประจำวันกัน” 
นอกจากนี้ คุณพ่อชิชินโซล่ายังเผยว่า เป็นความจริงที่พระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงอุทานออกมาทันทีที่ได้เข้าวังพระสันตะปาปาเป็นครั้งแรกว่า “โอ .. ห้องนี้(วังพระสันตะปาปา)ใหญ่เกินไป ถึงขนาดจุคนได้ 300 คนเลยนะ!! พ่อไม่ต้องการที่พักใหญ่ขนาดนี้หรอก”


วันหนึ่งพระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงตื่นนอนและเดินออกมาหน้าห้อง (เวลาประมาณ ตี 4.30 น.) พระองค์เห็นทหารสวิสยืนรักษาความปลอดภัยหน้าห้องนอน พร้อมหอกประจำตัว
พระสันตะปาปาจึงตรัสถามเขาว่า “มาทำอะไรตรงนี้ นี่คุณอยู่ตรงนี้มาทั้งคืนเลยเหรอ”
ทหารสวิส: ครับผม
พระสันตะปาปา: ยืนแบบนี้ (ทั้งคืน) ???
ทหารสวิส: พระสันตะบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์ครับ ผมเข้าเวรถัดจากเพื่อนผมครับ
พระสันตะปาปา: แล้วคุณไม่เหนื่อยบ้างเหรอ
ทหารสวิส: มันเป็นหน้าที่ของผมครับพระสันตะปาปา ผมต้องดูแลรักษาความปลอดภัยให้พระองค์
จากนั้นพระสันตะปาปาทรงมองเขาด้วยความห่วงใย และเสด็จกลับเข้าไปในห้องพักของพระองค์ นาทีต่อมา พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงถือเก้าอี้ออกมาด้วย
พระสันตะปาปาตรัสกับเขาว่า “เอ้า ... อย่างน้อยก็นั่งลงและพักบ้างนะ”
ทหารสวิสทำตาเลิกลั่ก และทูลพระองค์ว่า “พระสันตะบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์ โปรดอภัยให้ลูกด้วย ลูกทำแบบนั้นไม่ได้จริง ๆ เรามีกฎว่าทำแบบนั้นไม่ได้ครับ”
พระสันตะปาปา: กฏ????
ทหารสวิส: มันเป็นคำสั่งจากผู้บัญชาการครับ พระสันตะบิดรผู้ศักดิ์สิทธิ์
จากนั้น พระสันตะปาปาทรงยิ้มรับ และตรัสว่า “โอ้ว จริงดิ ... เอาล่ะ ดีเลย พ่อคือพระสันตะปาปานะ!!! และพ่อขอสั่งให้คุณนั่งลงเดี๋ยวนี้”
ทันใดนั้น ทหารสวิสก็นั่งลงบนเก้าอี้ที่พระสันตะปาปาทรงแบกออกมาให้
และพระสันตะปาปาก็เสด็จกลับเข้าไปในห้องพักอีกครั้ง คราวนี้ พระองค์ทรงถือ “ขนมปังกับแยม” ออกมาให้ทหารสวิสคนนี้และตรัสกับเขาว่า “คุณอยู่เฝ้าตรงนี้มานานหลายชั่วโมง คุณต้องหิวแน่ ๆ เอ้า .. ทานซะนะ ... ขอให้อร่อยกับอาหารนะน้อง” (ข้อมูล : Pope Report)
การเห็นคุณค่าของผู้คนรอบข้างคือบ่อเกิดแห่งความยิ่งใหญ่ที่แท้จริง สิ่งนี้ย้ำเตือนเราให้เห็นคุณค่าของผู้คนรอบข้าง อย่าให้ความเห็นแก่ตัวนำทางชีวิตเรา ทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตเราให้มีคุณค่า แล้วชีวิตเราจะมีคุณค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ล้างทางใจ


ล้างทางใจ
การเตรียมงานเตรียมพื้นที่สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส กำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่วัดเซนต์หลุยส์ของเราซึ่งอยู่ใกล้ที่ประทับของพระองค์ในภารกิจเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ จึงได้มีการตระเตรียมในหลาย ๆ ด้าน เดินผ่านมาที่วัดเห็นหลังคามีคนหลายคนกำลังปีนป่ายขัดสีเพื่อให้ขาวสะอาดขึ้น งานแบบนี้เราก็ต้องอาศัยคนที่มีความชำนาญการ ก็คงเหมือนกับการที่สมเด็จพระสันตะปาปาที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้มารับภารกิจแห่งรักนี้ ย่อมต้องเป็นผู้ที่เหมาะสมกับงานที่พระทรงมอบหมาย ในวันที่สันติภาพหายาก ในยุคที่ผู้คนต่างละทิ้งความเชื่อและละเลยคนยากไร้ไม่มีที่พึ่งพิง ในยุคที่มีแต่ความเห็นแก่ตัว สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นี้เป็นผู้มีความนบ
นอบ เป็นผู้ที่เต็มไปด้วยเมตตาในหัวใจ จึงเหมาะสมยิ่งนักที่จะมาเป็นผู้ชำระล้างสังคมให้สะอาดยิ่งขึ้น

เสียงย่ำระฆังที่กังวานคืนวันที่ 13 มีนาคม 2013 เวลา 19.08 นาฬิกา หลังจากที่ควันสีขาวพวยพุ่งออกมาทางปล่องไฟของวิหารน้อยซิสติน เป็นสัญญาณว่า เราได้สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่เรียบร้อยแล้ว
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จออกมุขกลางหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร โดยมิได้ทรงสวมใส่เสื้อคลุมที่ถือเป็นยศตำแหน่งสูงสุดแห่งการปกครองพระศาสนจักร เหมือนดังที่เคยปฎิบัติกันมา พระดำรัสแรกในค่ำคืนนั้นสร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลกว่า “พี่น้องชายหญิงที่รัก สวัสดีตอนเย็น!ดูเหมือนว่า บรรดาพี่น้องพระคาร์ดินัลได้พยายามอย่างสุดความสามารถที่จะเลือกคน ๆ นั้น และเราก็ทำได้แล้ว พ่อขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับของพวกท่าน สังฆมณฑลโรมก็มีพระสังฆราชของตนเองแล้ว ขอบคุณ! ก่อนอื่น พ่ออยากจะมอบคำภาวนาให้กับพระสังฆราชกิตติคุณของเรา สมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ ที่ 16 ขอให้พวกเราภาวนาเพื่อพระองค์ เพื่อที่พระเจ้าจะทรงอวยพรและแม่พระทรงปกปักรักษาพระองค์ท่าน” จากนั้น พระสันตะปาปาทรงนำสวดเพื่อพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ ที่ 16



“ตอนนี้ พวกเราได้ออกเดินทางพร้อมกัน การเดินทางของความเป็นพี่น้องกัน การเดินทางของความรัก และการเดินทางของความวางใจระหว่างพวกเรา ขอให้เราภาวนาเพื่อกันและกันเสมอ ขอให้เราภาวนาเพื่อโลก เพื่อเป็นจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของความเป็นพี่น้องกัน พ่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเดินทางร่วมกันของพระศาสนจักรที่ได้เริ่มต้นขึ้นในวันนี้จะผลิดอกออกผลต่อการประกาศพระวรสารบัดนี้ พ่อจะอวยพรพี่น้อง แต่ก่อนที่พ่อจะอวยพร พ่ออยากจะขอร้องพวกท่านได้ภาวนาขอพระเจ้าโปรดทรงอวยพรพ่อด้วย นี่เป็นคำภาวนาจากสัตบุรุษที่วอนขอพรเพื่อพระสังฆราชของตน เอาล่ะ ให้เราเงียบสักครู่ ขอให้พวกท่านภาวนาเพื่อพ่อด้วยนะ (เงียบและภาวนา)
พ่อจะอวยพรทุกท่านและอวยพรให้แก่ทุก ๆ คนบนโลกด้วย อวยพรให้กับชายและหญิงที่มีจิตใจดีงาม (พระสันตะปาปาประทานพร) พี่น้องที่รัก พ่อคงต้องลาแล้ว ขอบคุณสำหรับการต้อนรับ โปรดภาวนาเพื่อพ่อด้วยนะ ภาวนาจนกว่าเราจะพบกันอีกครั้ง เราจะได้พบกันอีกเร็ว ๆ นี้ พรุ่งนี้ พ่ออยากจะไปสวดขอแม่พระ เพื่อให้แม่พระคุ้มครองรักษากรุงโรม ราตรีสวัสดิ์และนอนหลับฝันดี!”
หลังจากพระองค์ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมเด็จพระสันตะปาปา ทรงเลี่ยงการประทับรถยนต์พระที่นั่งหลังจากที่ปรากฏพระองค์กับฝูงชนที่มุขกลาง โดยเลือกเสด็จร่วมกับพระคาร์ดินัลองค์อื่น ๆ เพื่อไปร่วมอาหารมื้อค่ำ ซึ่งจัดขึ้น ณ ที่พักของพระคาร์ดินัลที่มาร่วมเลือกตั้งพระสันตะปาปา พระองค์ได้ชื่อเป็นผู้มีสมถะ เคร่งวินัย ใช้ชีวิตบนความเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง อาศัยอยู่ในอาคารชุดขนาดเล็กนอกเมืองบัวโนสไอเรส และใช้รถเมล์ประจำทางในการเดินทางประจำวัน


ทำไมพระสันตะปาปาถึงปรารถนาใช้นามว่า “ฟรังซิส” บางคนคิดว่าเป็น ฟรังซิส เซเวียร์ บ้างก็ ฟรังซิส เดอ ซาลส์ หรือไม่ก็ ฟรังซิส อัสซีซี  พระองค์เล่าที่มาที่ไปว่า “ในระหว่างการเลือกตั้งพระสันตะปาปา พ่อนั่งติดกับพระคาร์ดินัล เคลาดิโอ ฮุมเมส ประธานกิตติคุณสมณกระทรวงเพื่อพระสงฆ์ ผู้เป็นเพื่อนที่แสนดี ตอนที่พระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้รับเลือกด้วยคะแนน 2 ใน 3   พระคาร์ดินัลฮุมเมสมากอดและจุมพิตมือพ่อ พร้อมกล่าวว่า “อย่าลืมคนยากจนนะ” คำว่า “คนยากจน คนยากจน” นี่แหละที่ติดในหัวพ่อทันที วินาทีนั้น เมื่อคิดถึงความยากจน พ่อนึกถึงนักบุญฟรังซิส อัสซีซี ผู้ที่ยังเป็นบุรุษแห่งสันติภาพอีกด้วย นั่นจึงเป็นที่มาว่าชื่อนี้ สำหรับตัวพ่อเอง นักบุญฟรังซิสเป็นบุรุษแห่งความยากจน สันติ และยังเป็นคนที่รักและปกป้องสิ่งสร้างของพระเจ้า ทุกวันนี้ เราไม่ได้มีความสัมพันธ์อันดีงามกับสิ่งสร้างของพระเจ้าไม่ใช่เหรอ นักบุญฟรังซิส คือบุรุษที่มอบจิตวิญญาณแห่งสันติและความยากจนให้กับเรา พ่อจึงอยากให้พระศาสนจักรดำเนินชีวิตต่ำต้อยและเพื่อคนยากจน
นี่คือต้นแบบของการล้างทางใจที่เราควรจะเตรียมใจให้เปี่ยมด้วยเมตตาและสันติไว้เพื่อต้อนรับพระองค์
(ขอบคุณข้อมูลจาก Pope Report)