ลานกว้างในใจเรา
ละครเรื่อง
“นาคี” กำลังเป็นที่ถูกอกถูกใจของหลาย ๆ คน มีการพูดถึงกันอยู่ในเกือบทุกวงสนทนา
จึงอดไม่ได้ขอลองดูบ้าง ในวันที่ได้นั่งดูได้มีการกล่าวถึง “จดหมายเหตุ ลา
ลูแบร์” พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นหนังสือเล่มนี้ในชั้นวางพอดิบพอดี
จำไม่ได้ว่าซื้ออ่านมาตั้งแต่ปีไหน!!! ตอนนี้หนังสือเล่มนี้ออกจะสีเหลือง ๆ
จึงได้นำมาอ่านใหม่อีกรอบ
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์
เป็นยุคที่รุ่งเรืองด้านการค้าและการต่างประเทศ
มีการส่งคณะราชทูตเพื่อเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์
ทรงส่งราชทูตออก พระวิสูตรสุนทร หรือ โกษาปาน ไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
และคณะทูตชุดนี้ ก็กลับมาพร้อมกับซิมง เดอ ลาลูแบร์
การเข้ามาของลาลูแบร์ในกรุงศรีอยุธยานั้นเพียง 3 เดือนกับอีก
6 วันในฐานะราชทูตไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าการเขียนหนังสือขนาดหนากว่า
600 หน้า (จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม
ฉบับแปลไทยโดยสันต์ โกมลบุตร) เพราะเนื้อหาของหนังสือได้รวบรวมเรื่องราวต่าง ๆ
ตั้งแต่สภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต การบริโภค เครื่องแต่งกาย
อาหารการกิน ภาษา และรวมถึงภาพวาดต่าง ๆ และอื่น ๆ
มีสิ่งหนึ่งที่ในบันทึกนี้เขียนถึงบ่อยครั้ง
นั่นคือความเรียบง่ายของคนในสมัยอยุธยา
การสร้างบ้านเรือนที่มักจะสร้างเรือนในพื้นที่กว้าง ๆ
และตั้งอยู่ให้ห่างกันพอสมควร ทั้งนี้ในจดหมายเหตุได้กล่าวไว้ว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องภายในครอบครัวแพร่งพรายให้คนอื่นได้ยิน
และลานกว้างนั้นบ่งบอกถึงความมีน้ำใจที่มีไว้ใช้ต้อนรับแขก มานั่งคุย
นั่งเล่นร้องรำทำเพลง นั่งทานข้าว หุงหาอาหารด้วยกัน คนสมัยนั้นจะกินอยู่แบบง่าย ๆ
กินข้าวกับปลาและผักต่าง ๆ ไม่ชอบที่จะนำเนื้อสัตว์อื่นมาทำเป็นอาหาร
ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร ในน้ำมีปลาในนามีข้าว
ทำให้ผู้คนไม่ต้องดิ้นรนแข่งขันกันทำมาหากิน ต่างก็มีน้ำใจอาทรต่อกัน
และต่อคนต่างถิ่นด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อคณะมิชชันนารีเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้
ได้รับพระราชทานที่ดิน เพื่อให้ก่อตั้งวัด โรงเรียน และชุมชน (วัดนักบุญยอแซฟ
อยุธยา) ผู้คนในสมัยนั้นมิได้เห็นโลกกว้างแต่กลับมีจิตใจที่กว้างยิ่งนัก
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน
วิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยน ระบบการปกครอง การสื่อสารมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป
ผู้คนมีมากขึ้น กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ในเมืองอุตสาหกรรม
ไม่สามารถจะอยู่ได้ด้วยการกินอยู่แบบง่าย ๆ ชีวิตต้องประกอบไปด้วยความหลากหลายมากขึ้น
เรื่องในครอบครัวกลายเป็นเรื่องสาธารณะเอามาบอกกล่าวเล่าขานในโลกออนไลน์ให้ผู้คนกล่าวขวัญถึงแบบไม่ต้องปกปิด
หรือระมัดระวังกันอีกต่อไป ความมีน้ำใจหดหายท่ามกลางโลกที่กว้างขึ้น
วิถีสมัยใหม่มิได้ทำให้เราเห็นใจกันและกันแต่กลับรำคาญที่จะช่วยเหลือกัน
“เราถูกทำให้เคยชินไปกับวัฒนธรรมไม่สนใจคนอื่น
เราจำเป็นต้องวอนขอพระหรรษทานสำหรับการสร้างวัฒนธรรมแห่งการพบหน้ากันขึ้นมาอีกครั้ง
การพบหน้าและพูดคุยกันจะช่วยฟื้นฟูศักดิ์ศรีการเป็นลูกของพระเจ้าให้กลับมาอีกครั้ง”
(สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส) นี่คือการสร้างลานกว้างให้เกิดขึ้นในใจของเรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น