วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ใกล้กันกินต่าง

ใกล้กันกินต่าง
            การทานอาหารด้วยกันถือว่าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของผู้คนในสังคม แม้แต่ละครในโทรทัศน์แทบทุกเรื่องต้องมีฉากการนั่งรับประทานอาหาร การแสดงแบบนี้สื่อถึงการกระชับความสัมพันธ์ มีการพูดคุย มีการตกลง มีการกล่าวคำขอโทษขอโพยกัน ล้วนอยู่ที่โต๊ะอาหาร การรับประทานร่วมโต๊ะเดียวกันนำพาความสุขความสามัคคีมาสู่หมู่มวลมนุษยชาติมานานนับศตวรรษ ดังที่โกวเล้งนักเขียนนิยานจีนชื่อดังเคยกล่าวไว้จนเป็นวลีอมตะว่าข้าพเจ้ามิได้ชื่นชอบในรสของสุรา(อาหาร) หากแต่ข้านั้นชื่นชอบในบรรยากาศ กลิ่นไอ และมิตรภาพแห่งการร่ำสุรา(ทานอาหาร)”
ภาพ: อินเตอร์เน็ต
            ครอบครัวจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่การร่วมรับประทานด้วยกันบ่อย ๆ มีเวลาพูดคุยปรึกษาหารือ ปรับทุกข์ปรุงสุขกัน แต่ยุคสมัยนี้ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เรามีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น มีสิ่งเล้าสิ่งเสพเข้ามาในชีวิตมากมาย เวลาทานข้าวจึงถูกแทรกแซงด้วยอุปกรณ์สมัยใหม่ หลายครอบครัวทานอาหารพร้อมๆกับเปิดโทรทัศน์ดูไปด้วย ตาก็จ้องดู จิตใจจดจ่อกับรายการตรงหน้า คนตรงหน้าถูกมองข้ามไป ยิ่งในยุคที่ต่างคนต่างมีเครื่องโทรศัพท์ที่มีสรรพสิ่งพร้อมให้เสพ ทุกเวลา ทุกนาที ทุกสถานที่คือโลกส่วนตัว ไม่เว้นแม้แต่ตอนทานอาหารด้วยกัน ต่างคนต่างก็จับจ้องอยู่กับโลกส่วนตัวบนฝ่ามือ ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างกิน เพียงแค่ใช้โต๊ะเดียวกันก็เท่านั้นเอง ใช่หรือไม่ ในยุคที่คุยกับคนไกลไม่สนใจคนใกล้เช่นนี้ นำมาซึ่งความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงครอบครัวคาทอลิกจะเหลือสักกี่ครอบครัวที่ยังสวดภาวนาพร้อมกัน ทั้งก่อนและหลังทานข้าว ก่อนเข้านอนและตอนตื่นนอน เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงมักมองข้ามความสำคัญของคนใกล้ตัว มัวแต่โหยหา มองเห็นความยิ่งใหญ่ ให้ความสำคัญกับคนอื่น ดังเช่นผู้หญิงคนนี้
            
ภาพ: อินเตอร์เน็ต
ผู้หญิงคนหนึ่ง ได้ระบายปัญหาของตนกับอาจารย์เซ็นว่า หลายปีก่อนสมัยเธอเป็นสาวแรกรุ่น เธอได้แต่งงานกับสามีที่อายุห่างกันประมาณ10ปี ในตอนนั้น สามีของเธอดูยิ่งใหญ่มากในสายตาของเธอ เธอชื่นชมและยกย่องสามีของเธอมาก แต่หลังจากอยู่กินกันมาหลายปีเขาก็เปลี่ยนไป ไม่เหลือความอลังการ น่าเกรงขาม ไม่เหลือซึ่งความน่าสนใจ เหมือนครั้งอดีตอีกแล้ว เธอถามอาจารย์เซ็นว่า เป็นเพราะเหตุใด? หรือการแต่งงาน คือสุสานของความรัก ใช่หรือเปล่า?
            เมื่อเธอเล่าจบ อาจารย์เซ็นจึงบอกกับเธอว่าเธอจงตามอาตมามา
            อาจารย์เซ็น พาเธอมายืนอยู่หน้าภูเขาลูกหนึ่ง แล้วถามว่าภูเขาลูกนี้ เป็นอย่างไรบ้าง?” “สูงใหญ่ ตระหง่าน ตระการตา และสวยงาม เป็นที่สุดเธอบอกตามอาตมาขึ้นเขาเถอะ!” อาจารย์เซ็นกล่าว
            ตลอดทาง ไม่มีเสียงพูดคุยใดๆ มีแต่เดินกับเดิน เธอเริ่มเหนื่อย และอ่อนล้า อีกทั้งทางเดินที่ขรุขระ เธอจึงบ่นอะไร เยอะแยะออกมาเมื่อถึงยอดเขา อาจารย์เซ็นบอกเธอว่านี่คือภูเขาที่เธอเห็นเมื่อสักครู่นี้
            “ภูเขาลูกนี้ไม่สวยเลย ทางเดินก็มีแต่หิน ต้นไม้ก็ไม่สวย ดูๆแล้ว ภูเขาลูกโน้น สวยกว่าซะอีก!” เธอระบายความรู้สึกออกมา
            อาจารย์เซ็นหัวเราะขึ้นมา และก็กล่าวว่าตอนที่เป็นแฟนกัน ก็เหมือนกับมองภูเขาจากที่ไกล ในสายตามีแต่ความชื่นชม เลื่อมใส เมื่อแต่งงานแล้ว ก็เหมือนกับการขึ้นเขา สิ่งที่เธอได้เห็น คือความปกติธรรมดาของกันและกัน เมื่อขึ้นมาถึงยอดเขา สายตาของเธอก็เห็นแต่ภูเขาลูกอื่น ไม่เห็นภูเขาลูกเดิม ที่จริงแล้วภูเขาไม่ได้เปลี่ยน แต่เป็นเธอต่างหากที่เปลี่ยน เพราะใจเธอเปลี่ยน แววตาของเธอ จึงเปลี่ยนไป เมื่อหมดซึ่งความชื่นชม ภูเขาก็ไม่ยิ่งใหญ่อีกต่อไป เธอปรักปรำพร่ำบ่นมากเท่าใด ความเสียหายก็มีมากเท่านั้น เพราะอะไร เธอจึงสามารถยืนอยู่บนยอดเขาลูกนี้ และเห็นภูเขาลูกอื่น? ก็เพราะเธอเหยียบอยู่บนภูเขาลูกนี้ เธอควรสำนึกคุณ ไม่ใช่ปรักปรำ (นิทานเซ็น)

          
ภาพ: อินเตอร์เน็ต
  เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพียงบทสอนชีวิตคู่เท่านั้น ลูก ๆ ก็เหมือนกันตอนยังเด็กน้อยก็มักมองว่าพ่อแม่ของตนยิ่งใหญ่ พอเติบกล้าขาแกร่ง กลับมองว่าพ่อแม่ของผู้อื่นแสนดีกว่าของตน การคบค้าสมาคมฉันเพื่อนก็เหมือนกัน ตอนแรกคบกัน ถูกโฉลกถูกชะตากันไปเสียทุกเรื่อง เห็นดีเห็นงามตามกันไปทุกที่ พอวันเวลาเปลี่ยนจากความสนิทกลายเป็นสนิม เพราะเห็นคนอื่นเก่งกว่า ดีกว่าเพื่อนที่คบค้ากันมา แถมยังเกิดอาการไม่ไว้วางใจในการความสัมพันธ์ มีบ่อยไปที่กลายเป็นคู่อริเพราะการมองข้ามความดีที่เคยมีมา ใช่แหละคนเราควรที่จะต้องแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิต แต่สิ่งใหม่นั้นควรเป็นสิ่งที่มาเพิ่มความความดีงามอันเก่าให้งดงามยิ่งขึ้น หาใช่มาทำลายกัน อย่ามองข้าม คุณค่า คุณความดีของคนใกล้ตัวเรา และพอใจในสิ่งที่มีเพราะนี่คือสิ่งประทานอันยิ่งใหญ่จากพระผู้สร้าง

ไม่มีความคิดเห็น: