ความง่ายที่เราทำกันได้ยาก
วิถีจากชีวิตของคนอื่นบางครั้งก็ทำให้เราได้คิดต่อยอด
หรือไม่ก็ได้คิดไตร่ตรองทบทวน และนำมาเป็นบทสอนแบบอย่างกับเราได้ ในทุกๆการเดินทาง
ทุกการพูดคุย ทุกการมองเห็น ทุกการสัมผัส นั่นคือ บทเรียนบทใหม่ๆ
|
ก๋วยเตี๋ยวชามขนาดกลาง อิ่มทั้งวัน |
ในครั้งที่เดินทางไปยังเวียงจันทน์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือที่เรียกสั้นๆว่า “
ประเทศลาว”
ด้วยการนั่งรถจากเมืองอุดร ผ่านเข้าด่านหนองคาย ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อเข้าสู่เมืองหลวงของลาว
ใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงเศษก็เข้าสู่กลางเมืองหลวงแห่งนี้ เวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงแห่งเดียวในโลกที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
และเนื่องจากการเดินทางมาในครั้งนี้มิได้มาเพื่อท่องเที่ยว แต่เป็นการมาทำงาน
ทางคณะผู้จัดงานจึงจัดการส่งรถตู้มารับรอง โดยมารับตั้งแต่สนามบินอุดรเพื่อนำเข้าสู่เวียงจันทน์
โดยช่วยดำเนินการทุกอย่างทางด้านเอกสารผ่านแดน และที่สำคัญได้ผู้นำทางที่เต็มไปด้วยอัธยาศัยไมตรีงดงามยิ่ง
ด้วยความชำนาญและความนิ่งที่ก่อให้เกิดสมาธิ
รถตู้จากฝั่งตรงข้ามโขงที่มีลักษณะการขับขี่ที่ตรงข้ามกับประเทศไทย รถพวงมาลัยซ้ายขับเข้าประเทศไทยก็ต้องวิ่งแบบพวงมาลัยขวา
ถามว่าสับสนไหม??? เพราะเพียงแค่ผ่านทาง ผ่านด่านก็ต้องเปลี่ยนเลนถนนในการขับขี่
คนเรานี่ก็ช่างคิดให้แปลกแตกต่างกัน เพียงแค่ข้ามแม่น้ำก็แตกต่างกันเสียแล้ว แต่...สำหรับมิตรภาพนั้นเกิดขึ้นได้เสมอแม้ว่าจะมีบางสิ่งบางอย่างขวางกั้นนั่นมิใช่ปัญหา
และยิ่งภาษาที่สามารถสื่อสารกันได้รู้เรื่องด้วยแล้ว การพูดคุย ความสนุกสนานในมิตรภาพใหม่ก็ปรากฏกายขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
|
ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า |
ในระหว่างภารกิจงานในเวียงจันทน์ทั้งสามวันนั้น
รถตู้คันนี้จะเป็นพาหนะที่นำเราไปตลอดเวลา และด้วยความเป็นเจ้าถิ่น
ผู้นำทางของเราก็มีเรื่องเล่าที่ผสมผสานความเฮฮาได้ทุกช่วงยามที่ได้พูดคุย เช่น
เมื่อผ่านเรือนจำ ผู้นำทางของเราก็เล่าว่า การติดคุกที่ฝั่งลาวจะเรียกว่า “การสัมมนา” ดูหรูมากในภาษาไทย
เขาเล่าถึงประวัติว่าที่เรียกว่าสัมมนานี้ก็เนืองมาจากสมัยก่อน คนที่ต้องคดีส่วนมากเป็นคดีทางการเมือง
เมื่อถูกตัดสินส่วนใหญ่จะถูกพาไปปล่อยยังเกาะใดเกาะหนึ่ง แล้วให้ลูกมะพร้าวไปหนึ่งลูก
ให้ข้าวสาร ส่วนอย่างอื่นหากินกันเอง ส่วนเวลาต้องโทษของแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใครปลูกมะพร้าวให้งอกงามและได้ผลมะพร้าวก่อนก็พ้นโทษก่อน
ใช้เวลาที่ต้องดูแลต้นมะพร้าวเพื่อสำนึกผิด จะจริงหรือเปล่าไม่ทราบได้!!!!
แต่ก็เป็นความคิดที่มีแง่งาม
การลงโทษให้ได้สำนึกดีกว่าการลงโทษด้วยความรุนแรงเพิ่มรอยแค้นและความเกลียดชัง
ยังไม่ทันจะได้หยุดยิ้มผู้นำทางก็ส่งเรื่องขำขำมาอีกในทันที เขาบอกว่า “
ที่ประเทศของเขานี้โทษเกี่ยวกับการละมิดทางเพศเด็กนั้นโทษติดคุกเพียงสามวัน”
ก็ถามต่อว่า “
อ้าว...ทำไมมันเบาอย่างนั้นล่ะ”
ผู้นำทางตอบมาในทันใดว่า “
วันที่สี่ก็ประหารชีวิต”
เล่นเอาฮากันทั้งรถ
|
ร้านอาหาร ครัวลาว อาคารแบบฝรั่งเศส |
ลักษณะของเวียงจันทน์นั้นเป็นเมืองที่กำลังค่อยๆพัฒนา เริ่มมีรถรามากขึ้น
แต่คนยังใจเย็นใจดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยในการใช้ถนนหนทางร่วมกัน แม้ว่าประเทศลาวจะเปลี่ยนไปมากตลอดช่วง
30
กว่าปี ที่ตกอยู่ใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์
แต่เวียงจันทน์ก็ยังคงรักษาจิตวิญญาณของเมืองโบราณในเขตชายแดนเอาไว้ได้ คือ เป็นเมืองที่ทุกสิ่งยังคงดำเนินไปตามวิถีทางของมัน
แต่...ช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา เวียงจันทน์มักต้องรับศึกและต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติมาโดยตลอด
ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ไทย พม่า เขมร หรือแม้แต่ฝรั่งเศสกับอเมริกา
|
บรรยากาศยามค่ำคืนที่เงียบสงบ |
การเข้ามาแทรกแซงของต่างชาติ
ส่งผลให้นครเวียงจันทน์ในปัจจุบัน มีสภาพหลากหลายทางด้านสถาปัตยกรรม อาหารการกิน
และวัฒนธรรมอยู่มาก โดยมีอิทธิพลของลาว ไทย จีน เวียดนาม ฝรั่งเศส อเมริกา
และแม้กระทั่งโซเวียตปะปนให้เห็นกันอยู่ทั่วไป เวียงจันทน์มีประชากรเพียง 10
เปอร์เซ็นต์ของประเทศ
แต่กลับมั่งคั่งรุ่งเรืองไม่น้อย การพัฒนาความเจริญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้โฉมหน้าของเวียงจันทน์ในปัจจุบันแตกต่างไปจากเวียงจันทน์ในสมัยหลังสงครามอินโดจีนครั้งที่สองมาก
ทุกวันนี้ ไม่เพียงแต่ไฟฟ้าเท่านั้น แม้แต่อินเตอร์เน็ตก็มีให้ใช้
แถมเริ่มแซงหน้าไทยไปโดยมี 4G
ใช้ ในขณะที่ประเทศเรายังโต้เถียงเรื่อง
3G
ยังไม่จบไม่สิ้น…
สิ่งที่น่าประทับใจแกมหน้าชานิดๆ
คือ ตอนที่ได้ถามไถ่ไปว่า “รถตู้คันนี้ดูใหม่และสะอาดดีจัง ซื้อมานานหรือซื้อในราคาเท่าไหร่” คำตอบคือ “ซื้อมาได้ปีกว่าๆในราคาคิดเป็นเงินไทยก็ล้านกว่าๆ” ถามต่อว่า “ซื้อด้วยเงินผ่อนเหรอ
ผ่อนเดือนละเท่าไหร่” ผู้นำทางหยุดสักครู่แล้วบอกว่า “เงินสดๆ” เริ่มงง “คนที่นี่ส่วนมากซื้อของด้วยเงินสดทั้งนั้น” “แสดงว่าพี่รวยนะซิ” “ไม่รวยครับ แต่ขยัน เก็บเงินมาเรื่อยๆสี่ห้าปี มีครบเมื่อไหร่ก็ซื้อ ไม่กินเหล้า
ไม่เที่ยว มีเงินเหลือเก็บ” “พี่ทำได้ไง” “ผมใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ครับ” คนไทยในรถเงียบกริบ เขายังพูดต่ออีกว่า “คนลาวรักในหลวงของคนไทยมาก
ทุกวันนี้ผมยังเก็บเงินจากการขับรถรับส่ง ไปซื้อที่ ปลูกมันปลูกอ้อย
มีเวลาก็แวะไปดูบ้าง กำลังจะได้เก็บเกี่ยว”
|
"พี่เค" คนต้นเรื่องกับรถต้นแบบ "พอเพียง" |
ใช่หรือไม่
สิ่งที่เรามีเรามักไม่เห็นคุณค่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทยไม่อยู่ในความคิด
เพราะวันนี้ถูกกระแสวัตถุนิยมครอบงำ ถูกกลอกใส่หัวกันทุกวันให้มีเครดิตติดตัว เพิ่มหนี้เพิ่มสินนี่แหละต้นทุน
ชักชวนให้ใช้เงินที่มองไม่เห็นในอนาคตมาซื้อปัจจุบัน ขยันสะสมสิ่งของที่ซื้อมาเก็บมากกว่าซื้อมาใช้
นั่งอึ้งนั่งทบทวนคำพูดพี่ผู้นำทางที่ไม่ได้นำทางอย่างเดียว แต่กลับนำให้กลับมาทบทวนในหนทางเก่าๆที่คุ้นชินที่เราไม่ค่อยได้นำพา ชีวิตที่เรียบง่าย
มีเท่าไหร่ใช้เท่านั้น คือ ชีวิตที่ผาสุก ทำไมเราดิ้นรนค้นหาอะไรกันมากมายนักเล่า
...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น