บันทึกในอ้อมกอดแห่งความเชื่อ 2
การเดินทางไม่สิ้นสุดแท้จริงแล้วมันก็คือความจริงของชีวิต
การมีชีวิตก็คือการเดินทางมาสู่โลกนี้เพื่อกลับไปบ้านเก่าด้วยความอิ่มเอม
...คณะของเราออกจากวาติกันมุ่งหน้าสู่เมืองปิซ่า ที่มีสัญลักษณ์หอเอน
เมืองของนักวิทยาศาสตร์ก้องโลก “กาลิเลโอ” ผู้พลิกประวัติศาสตร์แห่งความจริง
แต่ในเวลานั้นเขาก็ต้องทรมานกับการคิดไม่เหมือนคนอื่นและยืนอยู่บนความจริงที่ค้นพบ
กาลิเลโอ
เคยใช้หอนี้ทดลองเกี่ยวกับเรื่อง แรงโน้มถ่วง
ในตอนที่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยปิซา โดยใช้ลูกบอล 2 ลูกที่น้ำหนักไม่เท่ากันทิ้งลงมา
เพื่อพิสูจน์ว่าลูกบอล 2 ลูกจะตกถึงพื้นพร้อมกัน
ซึ่งก็เป็นไปตามที่กาลิเลโอคาดไว้
ผลงานของกาลิเลโอมีมากมาย
งานที่โดดเด่นเช่นการพัฒนาเทคนิคของกล้องโทรทรรศน์และผลสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญจากกล้องโทรทรรศน์ที่พัฒนามากขึ้น
กาลิเลโอได้รับขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่”
“บิดาแห่งฟิสิกส์สมัยใหม่” “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์” และ “บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่”
และเพราะการเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
โดยมีข้อมูลสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน ทำให้ศาสนจักรต้องออกกฎให้แนวคิดเช่นนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม
กาลิเลโอถูกบังคับให้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง
และต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในบ้านกักตัวในความควบคุมของศาลศาสนา
อย่างไรก็ตาม
ใน ปี ค.ศ. 1939 สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่
Pontifical Academy of Sciences หลังจากทรงขึ้นรับตำแหน่งไม่กี่เดือน
โดยเอ่ยถึงกาลิเลโอว่าเป็น “วีรบุรุษแห่งงานค้นคว้าวิจัยผู้กล้าหาญที่สุด
... ไม่หวั่นเกรงกับการต่อต้านและการเสี่ยงภัยในการทำงาน ไม่กลัวเกรงต่อความตาย”
วันที่
31 ตุลาคม
ค.ศ. 1992 สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ทรงแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในคดีกาลิเลโอ
ทางสำนักวาติกันได้เสนอการกู้คืนชื่อเสียงของกาลิเลโอโดยสร้างอนุสาวรีย์ของเขาเอาไว้ที่กำแพงด้านนอกของวาติกันเมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
ในกิจกรรมการเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปีการสร้างกล้องโทรทรรศน์ของกาลิเลโอ
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ทรงเอ่ยยกย่องคุณูปการของกาลิเลโอที่มีต่อวงการดาราศาสตร์
ในอีกด้านหนึ่งกาลิเลโอเป็นนักศึกษาพระคัมภีร์ตัวยง
ท่านเขียนหนังสืออธิบายความรู้เรื่องจักรวาลหลายร้อยหน้า
โดยอ้างอิงจากพระคัมภีร์เป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนา
รุ่งขึ้นคณะของเราก็เข้าสู่เมืองเวนิส
เมืองแห่งลำน้ำ เมืองแห่งนักบุญมาระโกผู้นิพนธ์พระวรสาร
เมืองที่ไม่มีรถวิ่งสักคันแต่มีร้านโชว์ของรถหรูเฟอรารี่...
จากนั้นเดินทางสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ดินแดนแห่งความเขียวขจี
ทุกพื้นที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนล้วนแล้วแต่สบายสายตาก่อให้เกิดความสุขทางจิตใจ
ใช่หรือไม่ หากว่าเราแต่ละคนเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นความร่มรื่นให้กันและกัน
สันติสุขแห่งจิตใจคงกลายเป็นเพื่อนสนิทของเราตลอดกาล มีโอกาสใช้เส้นทางรถไฟอันเก่าแก่กว่า
100 ปี ขึ้นสู่ยอดภูเขาหิมะ
ที่เมือง “จุงฟราว” เป็นยอดเขาที่อยู่ใจกลางของเทือกเขาแอลป์
ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกของโลกทางธรรมชาติขององค์การยูเนสโก เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในยุโรป
(Top of Europe) ได้ชื่อว่าเป็นหลังคาของยุโรป
มีความสูงประมาณ 4,158 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ยอดเขามีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี เป็นความสูงที่ร่างกายของบางคนอาจจะรับไม่ได้หากขึ้นไปโดยไม่ได้มีการปรับสภาพร่างกาย
ดังนั้นแล้ว รถไฟจึงมีสถานีจอดเพื่อให้เราได้ลงไปผ่อนคลายพร้อมกับปรับความสมดุลของร่างกาย
เพื่อรับกับความกดดันบนความสูงและความหนาวระดับติดลบบนภูเขาหิมะได้ คนเราจะขึ้นสู่ระดับสูงก็ต้องค่อยๆเป็น
ค่อยๆไป ใครคิดก้าวกระโดดโดยไม่มีการปรับระดับก็อาจจะถูกแรงกดดันบีบคั้นให้กลายเป็นคนไร้สภาพได้
แม้ว่าหลายคนปรับแล้วพอขึ้นมาสู่สภาพนั้นจริงๆก็แทบเอาตัวไม่รอด จนเวียนหัว
ลมใส่ลมจับ เกิดอาการอ่อนเพลีย นี่แหละชีวิตที่ต่างแข่งขันกันขึ้นไปให้สูงๆ
บางคนก็ย่ำแย่เมื่อไปถึงยังจุดนั้น แต่ใครๆก็อยากจะขึ้นไปลิ้มลองดูสักครั้ง...จากนั้นคณะของเราก็เข้าสู่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อไปยังเมืองลูร์ด
การเดินทางสู่เมืองลูร์ด
เพื่อหาแม่พระ เป็นเหมือนลูกๆที่วนเวียนกลับมาเยี่ยมแม่อีกครั้ง
...และการได้นัดพบกับ “คุณพ่อเกรียงชัย ตรีมรรคา” (คุณพ่อแมน) ทำให้คณะของเราได้ซาบซึ้งถึงความศรัทธาต่อพระแม่
ผู้นำเสนอคำวิงวอนของพวกเรา และรับรู้ถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคุณพ่อแมน คุณพ่อพูดภาษาได้เป็นอย่างดีจนสามารถทำพิธีและเทศน์เป็นภาษาฝรั่งเศสได้
คุณพ่อยังฝากความระลึกถึงมายังลูกวัดเซนต์หลุยส์ทุกๆคน...
คริสตชนยังคงหลั่งไหลไปเยี่ยมและไปหาแม่ที่เคยประจักษ์มาหานักบุญแบร์นาแด็ตอย่างมากมายเช่นเคย
การได้ร่วมขบวนแห่โคม ท่ามกลางความหนาวเย็นแต่กลับอบอุ่นด้วยคลื่นศรัทธาของผู้คน ต่างคนต่างภาษาแต่สวดบทภาวนา
“วันทามารีย์” ร่วมกัน
วันรุ่งขึ้นเราเห็นเหล่าบรรดาอาสาสมัครนำผู้ป่วยแถวยาวเหยียดเพื่อร่วมมิสซา หลายคนที่เพิ่งมาครั้งแรกต่างยืนมองดูด้วยอาการตื่นตะลึง
ตะลึงในความศรัทธาและความเป็นหนึ่งเดียวกัน หลายคนบอกว่านี่คือ “ความสุขใจอย่างยิ่งในชีวิต” เราลาจากเมืองลูร์ดในเย็นย่ำของวันอาทิตย์
ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก บนรถไฟเราต่างมาร่วมกันสวดภาวนาเพื่อร่ำลาพระแม่
ในใจมีสิ่งหนึ่งกังวลและได้พูดกับบางคนว่า “กลัวว่าน้ำจะท่วมเมืองลูร์ด” ผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ได้รับข่าวว่าเมืองลูร์ดเกิดน้ำป่าเข้าท่วม
เลวร้ายที่สุดในรอบสี่สิบปี อาสาสมัครเมืองลูร์ดทำงานรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สามารถเคลื่อนย้ายคนป่วยกว่า 500 คนได้อย่างปลอดภัย
และเพียงแค่สองสามวันน้ำป่าก็หายไป ชาวเมืองและอาสาสมัครต่างออกมาช่วยกันทำความสะอาดให้กลับมางดงามดังเดิม
อย่างไรเสียพระเจ้าก็มีหนทางมีบทเรียนเพื่อสอนเราให้รู้ถึงสัจธรรมว่า “ไม่มีสิ่งใดแน่นอน” แม้แต่พระศาสนจักรก็เคยพลาดพลั้ง
แต่เมื่อกลับใจขออภัย ฟ้าใหม่แผ่นดินใหม่ย่อมบังเกิดขึ้น แล้วเราหล่ะ ผ่านพ้นความสูง
ความสาหัส ผ่านภัยต่างๆมาแล้วก็มาก วันนี้ชีวิตเรามีความเชื่อมั่นคงมากขึ้นและมีสันติสุขหรือเปล่า…