อ่อนน้อมกันกี่โมง
>>> สิ่งที่ขับเคลื่อนมนุษย์มิใช่เหตุผล แต่เป็นอารมณ์และความรู้สึก <<<
นับวันเรายิ่งเห็นความดื้อรั้นมีเต็มบ้านเต็มเมือง
คนอายุเยอะก็ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตัวเองมีประสบการณ์ที่ผ่านมา มิสนใจกาลเวลาที่แปรเปลี่ยน ไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น
ห้ามเถียง ห้ามพูด ต้องทำตามเท่านั้น ทำไปทำมาคนรอบข้างหายไปทีละคนสองคน
ต้องอยู่ตามลำพัง เป็นคนแก่ขี้ดื้อ สำหรับผู้สูงอายุที่อ่อนโยน
จะกลายเป็นคนน่ารักที่มักมีคนอยู่ล้อมรอบไม่มีเหงา ยิ่งอยู่ใกล้โลกยิ่งงดงาม ส่วนคนรุ่นใหม่ในวันนี้ยุคนี้
ยิ่งไปกันใหญ่ ไม่ค่อยจะเห็นการยอมรับความคิดของใคร ๆ ทั้งนั้น มีฉันเป็นศูนย์กลาง
ฉันเก่ง ฉลาด ฉันถูกอยู่ฝ่ายเดียว ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล และใช้เหตุผลเป็นข้ออ้างให้เป็นฝ่ายชนะ เถียงหัวชนฝาจนหัวร้างข้างแตกก็ไม่ยอม เราจึงเห็นสังคมวันนี้ไร้สุข
ไร้ความเป็นพี่น้อง ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด ชีวิตดูเหมือนสมบูรณ์แต่ไม่สมดุลเอาเสียเลย มีแต่คนซึมเศร้าเหงามึน พูดจาสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง
จะมีคนรุ่นใหม่อยู่ไม่มากนักที่รู้จักอ่อนน้อม เคารพต่อความเป็นคนของผู้อื่น
ให้เกียรติทุกคน ไม่หยิ่งยโส
คนเหล่านี้มักจะเป็นที่รักและเป็นที่ต้องการของสังคมอย่างแท้จริง แต่ก็มีจำนวนน้อยลงเรื่อย
ๆ
การนิ่ง การฟังกันเป็นคุณสมบัติแรกของความอ่อนน้อม เป็นช่วงจังหวะให้เราหยุดคิดพิจารณา การยอมรับน้อมรับ นบนอบต่อการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ในทุกวันนี้ เพราะทุกคนต่างก็คิดว่าฉันต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ฉันต้องมีตำแหน่งแห่งหน ฉันต้องมีตัวตน เป็นคนเด่นคนดังจึงมีค่า ทุกคนต้างแข็งกระด้าง ไม่มีใครฟังใคร ไม่ใช้เหตุผลที่เป็นความจริง ใช้อารมณ์แห่งความเห็นแก่ตัวตัดสินกัน ใช่หรือไม่ บางทีเราก็ลืมตัว และใช้อารมณ์นำพาชีวิตกันเกินไป การทำตัวอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เราไม่มีศัตรู หรือคนเกลียด แต่เราหาคนแบบนี้ยากขึ้นทุกวัน จนมีคำถามกันว่า “จะอ่อนน้อมกันตอนกี่โมงล่ะ”